ประวัติตราพระครุฑพ่าห์ ของ ตราแผ่นดินของไทย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ใช้ตราอาร์มเป็นตราแผ่นดินใน พ.ศ. 2416 ต่อมาพระองค์มีพระราชดำริว่า ตราอาร์มที่ใช้เป็นตราแผ่นดินในเวลานั้นเป็นอย่างฝรั่งเกินไป และทรงระลึกได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยใช้ตราพระครุฑพ่าห์มาก่อน (ตราที่กล่าวถึงคือตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์องค์เดิม) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ขึ้นเป็นตราแผ่นดินเพื่อใช้แทนตราอาร์ม โดยครั้งแรกทรงเขียนเป็นรูปตราพระนารายณ์ทรงครุฑจับนาค ตรานี้ได้ใช้อยู่ระยะหนึ่งก็โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนตราครุฑขึ้นใหม่อีกครั้งเป็นตราวงกลม โดยยกรูปพระนารายณ์และนาคออกเสีย คงเหลือแต่รูปครุฑ ซึ่งเขียนเป็นรูปครุฑรำตามแบบครุฑขอม พื้นเป็นลายเปลวไฟ เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก็ชอบพระราชหฤทัย และมีพระราชประสงค์ที่จะให้ใช้ตรานี้เป็นตราแผ่นดินถาวรสืบไป จะได้ไม่ต้องสร้างขึ้นใหม่เมื่อเปลี่ยนรัชกาล

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลปชัย) เป็นผู้เขียนตราครุฑถวายใหม่ โดยยังคงใช้ตราครุฑเดิมแบบสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียงแต่เพิ่มพระปรมาภิไธยตามขอบพระราชลัญจกร และเปลี่ยนพระปรมาภิไธยที่ขอบพระราชลัญจกรให้ตรงตามรัชกาล และให้ยึดถือเป็นแบบอย่างต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาลจะสร้างขึ้นใหม่เมื่อพระมหากษัตริย์ได้รับการบรมราชาภิเษกแล้วเท่านั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล จึงไม่มีการสร้างพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาลขึ้น เนื่องจากพระองค์มิได้กระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คงมีแต่พระราชลัญจกรประจำรัชกาลเท่านั้น และเชิญพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์สมัยรัชกาลที่ 5 ออกประทับแทน แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าได้มีการสร้างพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ตั้งแต่ยังไม่ได้รับการบรมราชาภิเษก โดยมีพระปรมาภิไธยที่ขอบพระราชลัญจกรตามพระปรมาภิไธยของพระองค์ นับเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ก่อนการบรมราชาภิเษก

การใช้ตราพระครุฑพ่าห์

พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์นี้ใช้สำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์หรือกำกับนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งลงนามแทนในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ก็ยังใช้เป็นตราประจำสถานที่ราชการต่างๆ ของรัฐบาลไทย ใช้พิมพ์เป็นตราบนหัวหนังสือและเอกสารต่างๆ ของทางราชการ และใช้เป็นตราสำหรับประทับในหนังสือราชการของกรมกองต่าง ๆ

อนึ่ง บริษัทห้างร้านใดที่จดทะเบียนโดยชอบตามกฎหมายที่ติดต่อค้าขายกับทางราชสำนัก ซึ่งปรากฏว่ามีฐานะทางการเงินดี เป็นที่เชื่อถือแก่มหาชน ไม่มีหนี้สินรุงรังนอกจากหนี้สินปกติจากการค้าขาย และจะต้องประกอบการค้าโดยสุจริต อาจได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราพระครุฑพ่าห์เป็นตราตั้งห้างไว้ที่ห้างร้านของตนได้ โดยพระมหากษัตริย์ทรงไว้ในสิทธิที่จะเรียกคืนตราดังกล่าวได้

ภาพตราครุฑรูปแบบต่าง ๆ

  • ตราพระครุฑพ่าห์ แบบที่ใช้เป็นหน้าปกราชกิจจานุเบกษา หนังสือเดินทาง รวมทั้งใช้เป็นตราราชการของกรมราชองครักษ์ และหน่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศ
  • ตราพระครุฑพ่าห์ สำหรับใช้เป็นตราหัวหนังสือราชการไทย (แบบที่นิยมใช้กันมาก)
  • ตราพระครุฑพ่าห์ สำหรับใช้เป็นตราหัวหนังสือราชการไทย (แบบที่นิยมใช้กันมากอีกแบบหนึ่ง)
  • ตราพระครุฑพ่าห์ สำหรับใช้เป็นตราหัวหนังสือราชการไทย เขียนว่า (แบบปีกครุฑกว้าง)
  • ครุฑตราตั้งห้าง (เขียนว่า โดยได้รับพระบรมราชานุญาต: พระบรมราชานุญาต มาจาก พระบรมราช+อนุญาต=พระบรมราชอนุญาต=>พระราชานุญาต
  • ครุฑในธงมหาราช

ใกล้เคียง

ตราแผ่นดินของไทย ตราแผ่นดินของแคนาดา ตราแผ่นดินของเยอรมนี ตราแผ่นดินของลาว ตราแผ่นดินของสเปน ตราแผ่นดินของสหราชอาณาจักร ตราแผ่นดินของสวีเดน ตราแผ่นดิน ตราแผ่นดินของมาเลเซีย ตราแผ่นดินของกัมพูชา