ประวัติ ของ ตรุษไทย

ตามจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของไทย ถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งถือตามปฏิทินทางจันทรคติ แต่ต่อมาในสมัยสุโขทัย ได้ถือว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ [1] ซึ่งเรียกว่าวันตรุษ ซึ่งประเพณีวันตรุษไทยได้รับคติมาจากศรีลังกา ที่รับประเพณีวันตรุษซึ่งเป็นประเพณีเดิมของชนชาติทมิฬอีกทอดหนึ่ง และมีการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกลายเป็นงานนักขัตฤกษ์ใหญ่ เพื่อสร้างสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง


ภายหลังได้กำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่และวันตรุษเป็นเพียงวันสิ้นปีเก่า จากอิทธิพลทางโหราศาสตร์จากตะวันตก ที่วันปีใหม่คือวันที่เริ่มเข้าสู่ราศรีเมษ

โดยราชสำนักไทยเรียกประเพณีตรุษนี้ว่า พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์[2] โดยมีการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและบำเพ็ญกิจโดยเอนกปริยาย เพื่อขับไล่อัปมงคลและสร้างสิริมงคลแก่พระนครเนื่องในการขึ้นปีใหม่[3] โดยพระราชพิธีนี้ได้ปฏิบัติสืบมา และยกเลิกลงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงเห็นว่าไทยได้ติดต่อกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินทางจันทรคติไม่เหมาะสมและไม่สะดวก เพราะไม่ลงรอยกับปฏิทินสากล จึงประกาศให้ราชอาณาจักรสยามกำหนดวันขึ้นปีใหม่ โดยใช้วันทางสุริยคติตามแบบสากลแทน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา และถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย[4]ต่อมาได้เปลี่ยนให้เป็นวันที่1มกราคม เป็นวันปีใหม่สากล ในปี พ.ศ. 2483 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม