ประวัติ ของ ตังสิม

ตังสิมเป็นชาวเมืองฮอตั๋ง (河東郡 เหอตงจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอเซี่ย มณฑลชานซี เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ยุติธรรม ในรัชสมัยจักรพรรดิโจยอยแห่งวุยก๊ก ตังสิมดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาประจำทัพเสนาบดีมหาดไทย (司徒軍議掾 ซือถูจฺวินอี้เยฺวี่ยน)

ในช่วงศักราชชิงหลง (ค.ศ. 233-237) จักรพรรดิโจยอยโปรดให้ดำเนินโครงการก่อสร้างพระราชวังขนานใหญ่ ตังสิมเขียนฎีกาขึ้นถวายพระองค์ว่า:

"กระหม่อมทราบมาว่านายทหารผู้ซื่อตรงในยุคโบราณ ล้วนพูดเพื่อแผ่นดิน ไม่หลีกหนีความตาย ดังนั้นโจว ชาง (周昌) จึงเปรียบเทียบฮั่นโกโจ (漢高祖 ฮั่นเกาจู่) กับเจี๋ย (桀) แห่งราชวงศ์เซี่ยและติวอ๋อง (紂王 โจ้วหวาง) แห่งราชวงศ์ชาง หลิว ฝู่ (劉輔) เปรียบเทียบเจ้าโฮ่ว (趙後) กับหญิงรับใช้ ขุนนางผู้ภักดีซื่อตรงเผชิญหน้ากับดาบเปลือยและน้ำเดือด กล้าเดินหน้าอย่างไม่หวั่นเกรงเพื่อรักษาแผ่นดินให้เจ้าเหนือหัว นับตั้งแต่ศักราชเจี้ยนอัน (ค.ศ. 196-220) ผู้คนจำนวนมากตายในสงคราม แม้จะมีผู้รอดชีวิตก็มีแต่เด็ก คนชรา คนพิการ หากพระราชวังมีขนาดเล็กต้องการขยายก็ควรดำเนินการในเวลาที่เหมาะสม ไม่กระทบการเกษตร ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการสร้างของที่ไม่ก่อประโยชน์อย่างมังกรเหลือง (黃龍 หฺวางหลง) นกหงส์ (黃龍 เฟิ่งหฺวาง) เก้ามังกร ถาดรองน้ำค้าง ภูเขาดิน และสระน้ำลึก ของเหล่านี้ปราชญ์ผู้ทรงปัญญาล้วนไม่นิยม และต้องใช้แรงงานสร้างเป็น 3 เท่าของการสร้างพระราชวัง ขงจื๊อกล่าวว่า 'ประมุขปฏิบัติกับขุนนางตามจารีต ขุนนางก็ต้องรับใช้ประมุขด้วยความภักดี' เมื่อไม่มีความภักดีไม่มีการปฏิบัติตามจารีต บ้านเมืองจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ประมุขไม่ใช่ประมุข ขุนนางไม่ใชขุนนาง บนล่างไม่เชื่อมถึงกัน ก็เกิดความคับข้องใจ หยินหยางไม่ประสานกัน ภัยพิบัติก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก คนชั่วก็เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ กระหม่อมทราบดีว่าหากทูลไปเช่นนี้ กระหม่อมคงต้องตายเป็นแน่ แต่กระหม่อมก็เปรียบเหมือนขนเส้นหนึ่งของวัว อยู่ไปก็ไม่ประโยชน์อันใด ตายไปจะเป็นไรไปเล่า กระหม่อมมีบุตรชายแปดคน หลังกระหม่อมตายไปจะเป็นภาระต่อฝ่าบาท"[1]

ฎีกาของตังสิมได้รับการยื่นขึ้นถวายจักรพรรดิโจยอยขณะพระองค์เตรียมจะสรงน้ำ โจยอยจึงตรัสถามว่า "ตังสิมไม่กลัวความตายหรือ" เหล่าขุนนางผู้ถวายงานทูลเสนอให้จับกุมตังสิม แต่โจยอยมีรับสั่งว่าไม่ต้องดำเนินการไต่สวนใด ๆ[2]

ต่อมาตังสิมดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอ (令 ลิ่ง) ของอำเภอเป้ย์ชิว (貝丘縣 เป้ย์ชิวเซี่ยน) เป็นที่เคารพนับถือของราษฎร[3]