ประวัติการก่อตั้งเมือง ของ ตำบลยม

ตำบลยมก็คือเมืองยม ในสมัยพญาภูคาคือพื้นที่เมืองย่างหรือเมืองล่าง (เมืองย่างมีพื้นที่ครอบคลุมตำบลศิลาเพชร ตำบลยม ตำบลจอมพระ ตำบลอวน ในปัจจุบัน) บริเวณชุมชนโบราณเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำย่างและลำน้ำบั่ว

ตามประวัติการก่อตั้งกล่าวว่าเมื่อปี พ.ศ. 1820 พญาภูคาพร้อมด้วยราชเทวีคือนางจำปาหรือนางแก้วฟ้าและราษฎรประมาณ 220 คน ได้เดินทางมาจากเมืองเงินยาง มาพักอยู่ที่บริเวณบ้านเฮี้ย (ตำบลศิลาแลง) จากนั้นได้ออกสำรวจหาพื้นที่สำหรับตั้งเมือง และได้พบเมืองร้างบริเวณลุ่มแม่น้ำย่าง ซึ่งมีเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ ชื่อว่าบ้านกำปุงหรือบ่อตอง (ปัจจุบันคือบ้านป่าตอง) ราษฎรเป็นชาวลัวะ บริเวณชุมชนมีวัดร้างอยู่วัดหนึ่งชื่อ "วัดมณี" อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของบ้านกำปุง

พญาภูคาเห็นว่าบริเวณที่ได้สำรวจนี้เหมาะสมที่จะตั้งเมือง จึงได้พาราษฎรอพยพจากบ้านเฮี้ยมาสร้างบ้านเรือนอยู่ติดกับบ้านกำปุงทางทิศเหนือ และเนื่องด้วยพญาภูคาเป็นผู้มีความเมตตาโอบอ้อมอารี ราษฎรจึงได้ยกย่องขึ้นเป็นเจ้าเมืองล่าง เมื่อเดือน 3 เหนือ ขึ้น 2 ค่ำ พ.ศ. 1840 นับว่าท่านได้เป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์ภูคา

เมื่อชาวเมืองเชียงแสนและเมืองใกล้เคียงได้ทราบข่าวว่าพญาภูคาได้ตั้งและได้ปกครองเมืองล่าง ก็พากันอพยพถิ่นฐานมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ตลอดจนชาวไทยลื้อสิบสองปันนาก็ได้อพยพมาอยู่เพิ่มขึ้นอีก จึงทำให้เกิดการตั้งชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณลุ่มน้ำย่างและน้ำบั่ว ครอบคลุมบริเวณตำบลศิลาเพชร ตำบลยม ตำบลจอมพระ ตำบลอวนในปัจจุบัน

พญาภูคามีราชบุตรกับนางจำปา 2 องค์ องค์โตชื่อ ขุนนุ่น องค์เล็กชื่อ ขุนฟอง เมื่อขุนนุ่นอายุได้ประมาณ 18 ปี พญาภูคาจึงให้ขุนนุ่นพาราษฎรจำนวนหนึ่งไปหาที่ตั้งเมืองใหม่ ขุนนุ่นจึงไปหาพญาเถรแตงที่ดอยติ้ว ดอยวาว (เขตติดต่อระหว่างอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน กับอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาปัจจุบัน)

พญาเถรแตงจึงได้พาขุนนุ่นข้ามแม่น้ำโขงไปทางฝั่งตะวันออกไปสร้างเมืองหลวงพระบางและปกครองอยู่ที่นั่น ส่วนขุนฟองผู้น้องให้ไปสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อว่า "วรนคร" อยู่ทางทิศเหนือของเมืองล่าง (ปัจจุบันคือตำบลวรนคร) ขุนฟองท่านมีราชบุตร 1 องค์ชื่อ เจ้าเก้าเกื่อน พญาภูคาปกครองเมืองล่างได้ 40 ปี ก็ถึงอนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 1890

เจ้าเก้าเกื่อนซึ่งมีศักด์เป็นหลานได้ปกครองเมืองล่างสืบแทน ในสมัยนั้นพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา ได้ยกทัพมาตีเมืองวรนคร เจ้าเก้าเกื่อนได้ช่วยพ่อคือขุนฟองปราบข้าศึกจนพ่ายแพ้ไป ในครั้งนั้นได้รับสนับสนุนกองกำลังจากกรุงสุโขทัย ก่อนที่จะชิงเมืองคืนนั้นได้จัดทำสนามไว้สำหรับชุมชนช้างม้าที่เป็นพาหนะออกทำศึกในที่ดอนแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านดอนไชย) มีการสร้างคูเมืองและป้อมปราการเมืองเพื่อป้องกันข้าศึกมากมาย บริเวณข้างพระธาตุจอมพริกและบนสันดอยม่อนหลวง (บ้านลอมกลางปัจจุบัน)

เมื่อได้รับชัยชนะต่อพญางำเมืองแล้ว เจ้าเก้าเกื่อนปกครองเมืองล่างอยู่นั้น ท่านได้พาราษฎรสร้างเจดีย์ขึ้นที่ม่อนพักหรือม่อนป่าสัก (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านดอนมูล) และได้สร้างองค์พระธาตุจอมพริกบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมอบจากกรุงสุโขทัยคราวไปขอกำลังเพื่อชิงเมืองจากพญางำเมือง เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่รบชนะพญางำเมือง และเจ้าเก้าเกื่อนได้นำต้นโพธิ์ที่ได้รับมาจากสุโขทัย มาปลูกไว้ใกล้กับบ้านบ่อตองทางทิศตะวันตก พร้อมทั้งสร้างเจดีย์องค์เล็ก ๆ 1 องค์ใกล้กับต้นโพธิ์ นำเอาเพชรนิลจินดาแก้วแหวนเงินทองของมีค่าต่าง ๆ บรรจุไว้ในเจดีย์ ปัจจุบันไม่ปรากฏเจดีย์ให้เห็น เนื่องจากต้นโพธิ์โตขึ้นครอบเจดีย์องค์เล็กจมหายลงไปในดินนานนับหลายร้อยปีแล้ว คงเหลือแต่ต้นโพธิ์ใหญ่ที่สุดในตำบลศิลาเพชร

พ.ศ. 1921 ต่อจากนั้นเมืองล่างจึงไปขึ้นกับเมืองวรนคร อยู่ในความปกครองของพญาผานองซึ่งเป็นราชวงค์ภูคาด้วยกัน พญาผานองได้เปลี่ยนชื่อเมืองล่าง เป็น "เมืองย่าง" โดยเรียกตามลำน้ำย่างที่ไหลผ่าน แล้วได้แต่งตั้งเจ้าผาฮ่องขึ้นปกครองเมืองย่างซึ่งปกครองได้ไม่นานก็สุรคต

ต่อมาพญากานเมือง กษัตริย์วรนครองค์ที่ 5 แห่งราชวงค์ภูคาได้ย้ายเมืองวรนครไปตั้งที่เมืองภูเพียงแช่แห้ง เมื่อ พ.ศ. 1902 ราษฎรเมืองย่างบางส่วนได้อพยพตามพญากานเมืองไปอยู่ที่ภูเพียงแช่แห้งด้วย เมืองย่างจึงอยู่ในความปกครองของกษัตริย์เมืองน่าน

ปี พ.ศ. 2246 สมัยพระเมืองราชาได้มีการฟื้นม่าน (ต่อต้านพม่า) แต่สุดท้ายพ่ายแพ้แก่กองทัพพม่า เมืองน่านทั้งเมืองถูกเผา และเมืองย่างก็เช่นกัน ถูกพม่าทำลายจนย่อยยับ ราษฏรถูกพม่าจับกุมและนำไปคุมขังไว้ที่ห้วยต้อและห้วยมัดเป็นจำนวนมาก (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ตำบลอวน) ในครั้งนั้นเจ้าเมืองเล็นถูกพม่ายกทัพมาตีเมือง เจ้าเมืองเล็นทราบข่าวจึงพาชาวเมืองหลบหนีมาอยู่ที่เมืองล่างที่บ้านหัวทุ่ง ปัจจุบันคือบ้านนาคำ ตำบลศิลาเพชร และเจ้าเมืองเล็นได้เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองล่างนับแต่นั้นมา

ในสมัยนั้นเมืองย่างมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีการสร้างวัดวาอาราม และศาสนสถานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อีกทั้งสร้างเหมืองฝายต่าง ๆ บริเวณน้ำบั่ว เมื่อเจ้าเมืองเล็นได้ถึงแก่กรรม เจ้าเมืองน่านแต่งตั้งแสนปั๋นขึ้นปกครองเมืองย่าง สมัยนั้นเมืองน่านสงบสุข แสนปั๋นกับชาวเมืองได้สร้างเหมืองฝาย สร้างนาเหล่าหม่อนเปรต (หม่อนเผด บ้านดอนมูล) บูรณะองค์พระธาตุจอมพริก บริเวณบนดอยสันจ้าง บนวัดทุ่งฆ้อง (ปัจจุบันพระธาตุจอมพริกอยู่ในเขตบ้านเสี้ยว)

ครั้นถึงสมัยที่มีการฟื้นม่านเมื่อราวปี พ.ศ. 2330 เกิดนโยบายเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมืองของเจ้ากาวิละ กองทัพเจ้าเจ็ดตน กองทัพเมืองน่านโดยเจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองลำปาง สยาม และหลวงพระบาง เจ้าจอมหงแห่งเชียงตุง ได้นำกองทัพขึ้นไปโจมตีหัวเมืองไทลื้อแถบสิบสองปันนา ทำให้หัวเมืองลื้อทั้งหมดพ่ายแพ้แก่กองทัพล้านนาและสยาม จึงเป็นเหตุให้มีการอพยพชาวไทลื้อ เมืองยอง เมืองยู้ เมืองเชียงลาบ จำนวนมากมาอยู่ในจังหวัดน่าน

ปี พ.ศ. 2345 แสนปั๋น เจ้าเมืองย่างถึงแก่กรรม เมืองย่างเกิดน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ โดยครั้งนั้นพญาอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่านได้มาตรวจสภาพพื้นที่เมืองย่าง เห็นว่ามีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ดี มีพื้นที่ราบกว้างขวาง ประกอบกับในบริเวณเมืองย่างนั้นมีชาวไทลื้อที่เจ้าเมืองเล็นอพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนบางส่วน อีกทั้งมีชาวไทลื้อที่อพยพมาในสมัยพญาภูคามาตั้งบ้านเรือนอยู่แล้วนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการปกครอง จึงพิจารณาเห็นสมควรโปรดให้ชาวไทลื้อที่ได้อพยพมาจากเมืองยอง เมืองยู้ เมืองเชียงลาบ ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งริมสองฟากฝั่งแม่น้ำย่าง โดยโปรดให้นำช่างปั้นหม้อชาวไทลื้อให้ตั้งบ้านเรือนที่บ้านดอนไชย (ปัจจุบันขึ้นกับตำบลศิลาเพชร) เมืองเชียงลาบให้ตั้งบ้านเรือนที่บริเวณลุ่มน้ำย่างใกล้พระธาตุจอมพริก ลื้อเมืองยองให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้พระธาตุจอมนาง และลื้อเมืองยู้ให้ตั้งบ้านเรือนที่ท้ายแม่น้ำย่าง

ในครั้งนั้นเจ้าอัตถวรปัญโญได้แต่งตั้งให้แสนจิณปกครองเมืองย่างสืบต่อจากแสนปั๋น

แต่ภายหลังเมื่อมีการจัดระเบียบหัวเมืองการปกครองนครน่านใหม่ในสมัยของพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ จึงแยกเมืองยมออกจากเมืองย่าง โดยให้ท้าวเมืองยมเป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองยม และจัดระเบียบเมืองยมขึ้นอยู่กับแขวงน้ำปัว ซึ่งประกอบด้วยหัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองปัว เมืองริม เมืองอวน เมืองยม เมืองย่าง (ภายหลังเมืองย่างเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลศิลาเพชร) เมืองแงง เมืองบ่อ ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองปัว

พ.ศ. 2486 ทางการได้มีประกาศยุบเลิกตำบลศิลาเพชรให้ไปขึ้นอยู่กับการปกครองของตำบลยม อำเภอปัวในขณะนั้น ซึ่งมีนายอิทธิ อิ่นอ้าย เป็นกำนัน และให้ตำบลศิลาเพชร เป็นตำบลยม 2 อำเภอปัว

พ.ศ. 2490 จึงมีประกาศจากทางราชการให้กลับมาเป็นตำบลศิลาเพชรเหมือนเดิม

ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2505 ทางราชการประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอท่าวังผา โดยแยกตำบลยม อำเภอปัว ให้มาขึ้นกับกิ่งอำเภอท่าวังผา

ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ได้ประกาศแยกตำบลยมออกเป็นอีกหนึ่งตำบล คือ ตำบลจอมพระ

ปัจจุบันตำบลยมแบ่งการปกครองออกเป็น 10 หมู่บ้าน ดังนี้

  1. หมู่ที่ 1 บ้านเก๋ง
  2. หมู่ที่ 2 บ้านสบบั่ว
  3. หมู่ที่ 3 บ้านลอมกลาง
  4. หมู่ที่ 4 บ้านเชียงยืน
  5. หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งฆ้อง
  6. หมู่ที่ 6 บ้านเสี้ยว
  7. หมู่ที่ 7 บ้านหนอง
  8. หมู่ที่ 8 บ้านพร้าว
  9. หมู่ที่ 9 บ้านน้ำไคร้
  10. หมู่ที่ 10 บ้านนานิคม