แหล่งท่องเที่ยวและชุมชนโบราณ ของ ตำบลสะกาด

ปราสาทเต่าทอง เป็นปราสาทศิลปะแบบเขมรที่เก่าแก่ โดยหลังเดิมนั้นสร้างด้วยอิฐขัดเรียบ ตั้งอยู่บนเนินรูปหลังเต่า มีคูน้ำล้อมรอบตามฉบับผังเมืองโบราณ มีทางเข้า 5 ทาง ปราสาทเป็นศิลปะสมัยใดไม่อาจทราบได้ เพราะองค์ปราสาทและเรือนครรภธาตุนั้นถูกสร้างทับด้วยสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่อันมีเหตุเนื่องมาจากใน พ.ศ. 2521 มีการพบทองคำและเครื่องประดับโบราณมากมาย อาทิ กรองศอทองคำประดับพลอย ธำมรงค์ทองคำ หอก ด้าว ง้าว ขอ ดาบ พระแสงขรรค์ ที่ล้วนทำจากเงิน สำริด และทองคำ เป็นปราสาทหลังเดียวในประเทศไทย ที่ยังมีทรัพย์สมบัติฝังอยู่ในเรือนธาตุ ทั้งนี้เพราะความร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่ ที่พยายามจะปกป้องทรัพย์สมบัติจากบรรพชน โดยหารู้ไม่ว่าเป็นการทำลายโบราณสถานในคราวเดียวกัน ปัจจุบันจึงทำให้ปราสาทไม่เหลือเค้าปราสาท เป็นเหตุให้ยากต่อการขุดค้น แต่อย่างไรก็ตามจากการสัณนิษฐานตามหลักฐานแวดล้อมในพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ก็สามารถสรุปได้ว่าปราสาทเต่าทองน่าจะมีอายุไล่เลี่ยกับบรรดาปราสาทใกล้เจคียงซึ่งได้แก่ ปราสาทภูมิโปน ปราสาทบ้านจารย์ (ปราสาทสังข์สินชัย)และ ปราสาทหมื่นชัย ต.กระเทียม คือราวพุทธศรรตวรรษที่ 12 - 14

วัดเต่าทอง เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ในชุมชนที่เป็นเมืองโบราณ บริเวณบ้านตาโมม ตำบลสะกาด อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ปรากฏชื่อในเอกสารครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2298 ซึ่งมีการผูกพัทธสีมาครั้งแรกตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าชุมชนชาวกวยที่อยู่ ณ บ้านตาโมมแห่งนี้อาจจะอพยพมาจากแขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว หลังจากเกิดโรคระบาด แล้วมาเลือกชัยภูมิแห่งนี้ ซึ่งมีที่ตั้งเหมาะสมอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากบ้านตาโมมเป็นเมืองโบราณสมัยขอมช่วงเวลาเดียวกับปราสาทอื่นๆ ในแถบนี้ จึงมีคูเมืองและตัวเมืองชั้นใน ดังปรากฏหลักฐานทางภูมิศาสตร์ในปัจจุบัน คือบริเวณปราสาทเต่าทอง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • 1. ปราสาทเต่าทอง
  • 2. บรรณาลัย (หอเก็บคัมภีร์)
  • 3. ราชมรรคา ทางขึ้นปราสาท
  • 4. คูน้ำล้อมปราสาท
  • - ฝั่งตะวันตกเรียก ตระพังข็อง(หนองมะม่วง)
  • - ฝั่งทิศใต้เรียกตระพังเทราะ (หนองหมู่บ้าน ปัจจุบันเรียกบ้านเก่า)
  • - ฝั่งทิศเหนือเรียกตระพังราง(หนองร้าง)
  • - ฝั่งทิศตะวันออกเรียกตระพังเส็ม(หนองสิม)
  • 5. บาราย (สระน้ำประจำปราสาท)
  • 6. วิหารเปลื้องเครื่อง (พระเสื้อเมืองทรงเมือง)ปัจจุบันวิหารทางทิศใต้คืออุโบสถวัดเต่าทอง ส่วนทิศเหนือเป็นสนามกีฬากลางหมู่บ้าน
  • 7. พระธาตุ (เป็นศิลปะลาวจำปาศักดิ์)คาดว่าสร้างขึ้นภายหลังบูรณะวิหารเป็นอุโบสถแล้ว

วัดเต่าทอง ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นวัดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2298 และได้รับการอนุญาตตั้งวัดเป็นอารามคามวาสีเมื่อปี พ.ศ. 2300 สมัยเจ้าเมืองสุรินทร์คนที่ 1 มีประชาชนเป็นโยมอุปปัฏถาก 11 หมู่บ้าน คือ บ้านตาโมม บ้านสน บ้านโคกขะยูง (ปัจจุบันร้างแล้ว) บ้านโพนไทร (ปัจจุบันร้างแล้ว) บ้านระโยง (ปัจจุบันร้างแล้ว) บ้านตระพังร้าง (ปัจจุบันร้างแล้ว) บ้านบางสะกาด (ปัจจุบันย้ายไปตั้งเป็นบ้านสะกาด) บ้านหลัก (ยังอยู่) บ้านโคกระหาร (ปัจจุบันเหลือแต่ชื่อ) บ้านโคกสะวาย (ปัจจุบันเหลือแต่ชื่อ) บ้านบางฉะโพร (คาดว่าเป็นพื้นที่บ้านธรรมราชในปัจจุบัน เพราะมีแอ่งน้ำชื่อว่าพังฉะโพร ปัจจุบันไม่เหลือเค้าแอ่งน้ำนั้นแล้ว ด้วยมีการปรับพื้นที่เพื่อทำนา -- เคยขุดค้นพบภาชนะดินเผาใส่โครงกระดูกมนุษย์โบราณ 3 จุด) แต่ภายหลังเกิดโรคระบาด ประชาชนแต่ละหมู่บ้านนิยมตั้งวัดเพิ่มมากขึ้น เลยเหลือแค่สองหมู่บ้านคือบ้านสนและบ้านตาโมม ต่อมาบ้านสนมีการตั้งวัดสุวรรณราษฎร์บำรุง(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสนสัทธาราม)ขึ้น จึงเหลือแค่บ้านตาโมมเท่านั้นที่ดูแลวัด จากวัดที่ใหญ่ที่สุดในตำบล มีพระเกือบร้อยรูปปัจจุบันจึงถดถอยลงมาก

ในปี พ.ศ. 2454 ตรงกับสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดเต่าทอง มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่มีการเผาอิฐก่อกำแพงอุโบสถขึ้น มีการบูรณะ พระธาตุ สร้างหอระฆัง สร้างโปง ขุดสระขุดบ่อ และย้ายป่าช้าจากทิศตะวันตกบ้านบางสะกาดมาตั้งที่ทิศตะวันออกบ้านตาโมม จึงทำให้วัดตาโมม มีองค์ประกอบของวัดครบตามตำราการตั้งวัด คือมีอุโบสถ พระธาตุเจดีย์ ต้นศรีมหาโพธิ์ วิหารฉัน และหอระฆัง จึงได้มีการฉลองอุโบสถหลังใหม่และผูกพัทธสีมาขึ้นในปี 2458 ผ่านมาแล้ว 100 ปี และมีการผูกซ้ำอีกในพิธีแสดงอาโป ปี 2481 (เป็นการเปลี่ยนใบเสมาจากหินเป็นปูน)

ในปี พ.ศ. 2487 มีการเปลี่ยนชื่อวัดจากวัดตาโมมเป็น “วัดเต่าทอง” มีการสร้างหอระฆังในปี 2504 สร้างศาลาการเปรียญในปี 2511 มีการสร้างพระใหญ่ทับปราสาทในปี 2521 มีการสร้างวิหารทับปราสาทเต่าทองในปี 2539 จวบจนปี 2548 ชาวบ้านตาโมมทั้งสองหมู่บ้านมีมติก่อสร้างบูรณะอุโบสถใหม่แทนหลังเดิม จึงมีการเริ่มก่อสร้างอุโบสถขึ้นจวบจน สำเร็จในปี 2558 จึงจัดการเฉลิมฉลองอุโบสถหลังใหม่และผูกพัทธสีมาอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2559 นี้ ศิริรวมอายุวัดเต่าทองได้ ประมาณ 300 ปี ศิริรวมอายุการตั้งชุมชนบ้านตาโมมได้ 900 ปี

ศาสนสถานและศาสนวัตถุสำคัญศาสนสถานและศาสนวัตถุสำคัญ คือ

  • 1. พระพุทธเวฬีสารีธาตุ (พระใหญ่ในอุโบสถ ดัดแปลงมาจากเทวรูปในวิหารสมัยปราสาทขอม มีการโบกดินเหนียวทับและมีการฉาบปูนทับหลายชั้น หลังจากการสแกนด้วยเครื่องมือสแกนโลหะ พบมีแกนเป็นหิน มีโลหะทองคำและโลหะเงิน บุครอบหินในองค์พระ แต่ไม่สามารถกะเทาะออกได้ เนื่องจากฉาบดินและปูนทับหลายชั้น)
  • 2. พระเจ้าหอกลอง (พระเจา หรือพระเจ้า) เป็นพระพุทธรูปสำริด แต่เดิมตั้งไว้ในปราสาทเต่าทองต่อมาถูกลักขโมยสุญหายไป แล้วถูกพบโดยชาวบ้านบางสะกาดในทางเกวียนก่อนข้ามคลอง ปัจจุบันเรียกบริเวณนั้นว่าคลองพระเจา หลังจากถูกพบได้มีการอัญเชิญไปเป็นพระพุทธรูปประจำตำบลสะกาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 ตามทะเบียนหมายเลขศาสนวัตถุสำคัญ สข. ๓๒/๑๒๘.๒๕๑๑ ก. ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดทรายขาว บ้านสะกาด ต.สะกาด อ.สังขะ จ.สุรินทร์
  • 3. พระนขธาตุ (เจดีย์พระธาตุหน้าพระอุโบสถ) สร้างในปี พ.ศ. 2302 ศิลปะลาวจำปาศักดิ์
  • 4. หอระฆังไม้ สามชั้นเรือนยอดสุวรรณหงส์สร้างในปี พ.ศ. 2504
  • 5. กลองเพล ใบเก่าชำรุด ปัจจุบันเป็นใบใหม่
  • 6. เกราะโปง (ปัจจุบันเป็นโปงใบที่สามเปลี่ยนเมื่อ พ.ศ. 2535)
  • 7. ระฆังสำริด (สูญหายเมื่อปี พ.ศ. 2533)
  • 8. กังสดาลตีฉันเพล
  • 9. ปราสาทเต่าทอง
  • 10. คูน้ำรอบปราสาท(ปัจจุบันมีการถมที่แทบไม่เหลือร่องรอย)
  • 11. ศาลาการเปรียญไม้ (ปัจจุบัน ปลวกแทะ)
  • 12. สระน้ำ
  • 13. ป่าช้า

อย่างไรก็ตาม วัดเต่าทอง หรือวัดปราสาทเต่าทอง เป็นศาสนสถานโบราณตั้งแต่สมัยปราสาทขอมเกี่ยวเนื่องกับ 3 ศาสนาคือศาสนาผี ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ดังประเพณีต่างๆที่หลงเหลืออยู่ เช่น พิธีปะแสงปราสาท (ความเชื่อเรื่องผีเจ้าผู้รักษาปราสาท) พิธีทำบุญข้าวและพิธีสารท (พิธีพราหมณ์ เพื่อเซ่นสรวงบรรพบุรุษของชนพื้นเมืองชาวกวยและชนพื้นเมืองชาวเขมร) และพิธีบุญต่างๆ ในศาสนาพุทธ วัดเต่าทอง มีประวัติความเป็นมายาวนานเกินเก้าช่วงอายุคน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีมาตรการอนุรักษ์และเผยแพร่ให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกัน

และในวันที่ 31 ธ.ค.2560 มีการจัดงานใหญ่บนพื้นที่ปราสาทเต่าทอง ปรากฏว่ามีการค้นพบพระพุทธรูปโบราณสำริดและบุเงินมากมาย จากศิลปะของพระพุทธรูปนั้นสัญนิฐานเบื้องต้นว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะลาวจำปาศักดิ์ ซึ่งมีความสอดคล้องการประวัติการสร้างวัด การสร้างเจดีย์ และพระพุทธรูปอื่นๆ ที่เคยขุดพบเมื่อก่อนหน้านี้ รวมถึงพระพุทธรูปประจำตำบลที่มีประวัติมาจากปราสาทเต่าทองนี้ด้วยก็เป็นศิลปะลาวจำปาศักดิ์ ซึ่งเชื่อกันว่ายุคอพยพนั้น เป็นชาวกวยมาจากเมืองจำปาศักดิ์นั่นเองได้มาสร้างเมืองที่นี่ แต่มีสิ่งที่ยังคำตอบไม่ได้ คือเหตุใดสถานที่แห่งนี้จึงมีกรุสมบัติมากมายถึงเพียงนี้ ยังรอการสืบค้นโดยนักโบราณคดีและนักวิชาการร่วมกันศึกษาต่อไป