ถนนอุณากรรณ

ถนนอุณากรรณ (อักษรโรมัน: Thanon Unakan) เป็นถนนสายสั้น ๆ สายหนึ่งในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นถนนขนาด 3–4 ช่องทางจราจร ไม่มีเกาะกลาง เขตถนนกว้าง 19.50 เมตร ระยะทางยาว 446 เมตร[1] เริ่มต้นจากทางแยกอุณากรรณ (จุดตัดกับถนนเจริญกรุง) ในพื้นที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ มุ่งไปทางทิศเหนือ ตัดกับถนนศิริพงษ์ ข้ามคลองหลอดวัดราชบพิธเข้าพื้นที่แขวงวัดราชบพิธ ตัดกับถนนลงท่า ตรงไปทางทิศเดิมโดยขนานไปกับถนนศิริพงษ์และเลียบกำแพงวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ไปสิ้นสุดที่ทางแยกเสาชิงช้า (จุดตัดกับถนนบำรุงเมือง)ชื่อถนนอุณากรรณมีที่มาจากพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาเปี่ยม[2] โดยเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมได้อุทิศเงินจำนวน 100 ชั่งของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ให้นำไปสร้างถาวรวัตถุที่เป็นสาธารณประโยชน์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พระองค์ซึ่งสิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษา 18 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้กรมโยธาธิการสร้างถนนสายสั้น ๆ ขนาดถนนข้าวสาร โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดสรรงบประมาณมาสมทบด้วย[3] กรมโยธาธิการสร้างถนนเสร็จในปี พ.ศ. 2443 แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นถนนหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานชื่อถนนว่า "ถนนอุณากรรณ" เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ปรากฏว่า ในสมัยนั้นถนนอุณากรรณเป็นเส้นทางที่มีประชาชนจำนวนมากใช้เป็นเส้นทางสัญจร เนื่องจากเป็นทางลัดที่ใกล้ที่สุดระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนบำรุงเมือง[3]