ประวัติ ของ ถนนเลียบเนิน

ถนนเลียบเนิน เป็นถนนภายในเทศบาลเมืองจันทบุรีที่มีมาตั้งแต่ช่วงยังเป็นสุขาภิบาลเมืองจันทบุรีก่อนการก่อตั้งเทศบาลเมื่อปี พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเทศบาลเมืองจันทบุรี ดังที่เห็นปรากฏในแผนที่ประกอบในผังเมืองรวมตั้งแต่ในอดีต มีสถานที่ราชการสำคัญ ๆ ตั้งอยู่ตลอดแนวถนน เช่น จวนผู้ว่าราชการจังหวัด จวนสมุหเทศา ที่พักคลังมณฑล ที่พักอัยการจังหวัด เป็นต้น ส่วนอีกฝั่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่เรียกว่า ทุ่งนาเชย ประกอบไปด้วยท้องทุ่ง ลำราง และหนองน้ำ ตลอดตั้งแต่ต้นเส้นทางจนกระทั่งสิ้นสุดสายทาง[2]

สำหรับขอบเขตของถนนเลียบเนินเดิมนั้น เมื่อ พ.ศ. 2483 ปรากฏขอบเขตข้ามแยกพระยาตรังรวมไปจนถึงถนนรักศักดิ์ชมูลในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นยังมีระยะทางที่สั้นและไม่มีการก่อสร้างไปบรรจบกับแนวถนนสุขุมวิท[3] จากนั้นในปี พ.ศ. 2527 ได้มีการกำหนดหมายเลขทางหลวงแผ่นดิน 316 ซึ่งมีขอบเขตรวมเข้ามาถึงแนวถนนเลียบเนินในปัจจุบันโดยปรากฏอยู่บนแผนที่แนบท้ายการเปลี่ยนแปลงแนวเขตเทศบาลเมืองจันทบุรี[4] ก่อนจะมีการถ่ายโอนเส้นทางให้มาอยู่ในความดูแลของเทศบาลและนับขอบเขตสายทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 316 ใหม่ให้สิ้นสุดที่บริเวณแยกพระยาตรัง ตามประกาศของกรมทางหลวงใน พ.ศ. 2544 ให้จากเดิมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 316 มีชื่อทางหลวงว่า แยกทางหลวงหมายเลข 3 – จันทบุรี เปลี่ยนเป็น แยกทางหลวงหมายเลข 3 – ต่อทางของเทศบาลเมืองจันทบุรีควบคุม[5]

ชื่อถนนเลียบเนินนั้น สันนิษฐานว่ามาจากองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดจันทบุรีที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลูกฟูก หรือที่ราบลูกระนาด[6]ประกอบกับพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำจันทบุรี[7] ซึ่งแนวของถนนเลียบเนินตัดผ่านนั้นเป็นการตัดผ่านเป็นเส้นตรงเลียบขนานไปกับเนินเขาขนาดย่อมในฝั่งตะวันตกของถนน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการเป็นส่วนใหญ่[8] โดยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเนินนั้นปรากฏในประวัติการก่อตั้งโรงพยาบาลพระปกเกล้าที่มีการระบุว่าข้าหลวงประจำจังหวัดได้จัดหาพื้นที่บริเวณท้ายเนินปลัด (เนินป่าโรงไห หรือเนินเอฟเอ็มในปัจจุบัน) ริมถนนเลียบเนิน ตรงข้ามกับทุ่งนาเชยเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลเมื่อปี พ.ศ. 2480[9] ในรายงานประจำปีของเทศบาลเมืองจันทบุรี[8] รวมถึงชื่อชุมชนตามแนวถนนที่แยกจากถนนเลียบเนินไปทางตะวันตกที่ใช้ชื่อว่าเนินเป็นส่วนประกอบ คือชุมชนย่อยที่ 10 เนินเอฟเอ็ม[10] และชุมชนย่อยที่ 9 เนินเอสโซ่[11]

ปัจจุบันสภาพโดยรอบตลอดเส้นทางมีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังคงเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ตลอดสายทางอยู่เช่นเดิม เช่น ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ที่ว่าการอำเภอเมืองจันทบุรี สำนักงานเทศบาลเมืองจันทบุรี[12] ส่วนของพื้นที่สาธารณประโยชน์ทุ่งนาเชยก็ได้ลดขนาดลงและกลายเป็นสวนสาธารณะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ทุ่งนาเชย) ที่มีทะเลสาบขนาดเล็กอยู่ภายใน[13]

ใกล้เคียง

ถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย ถนนเลียบเนิน ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ ถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (ด้านตะวันออก) ถนนเลี่ยงเมืองสันป่าตอง–หางดง ถนนเลย-ด่านซ้าย ถนนเลี่ยงเมือง ถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี ถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ถนนเลี่ยงเมืองบางบ่อ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ถนนเลียบเนิน http://164.115.23.146/chanthaburi/location.html http://www.rama7.chula.ac.th/organization.html http://lmp.drr.go.th/lmp/waydata/roadregister/summ... http://lmp.drr.go.th/lmp/waydata/way_view.html?cid... https://www.thairath.co.th/news/local/east/624607 https://chanmunic.go.th/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%8... https://chanmunic.go.th/%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%9... https://chanmunic.go.th/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B... https://chanmunic.go.th/wp-content/uploads/2022/06... https://www.chanthaburi.go.th/content/general