ถีนเจตสิกและมิทธเจตสิก ของ ถีนมิทธะ

ในพระอภิธรรมได้บรรยาย ถีนมิทธะ ในลักษณะของเจตสิก (คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด) โดยแบ่งเป็น ถีนเจตสิก และ มิทธเจตสิก
ถีนเจตสิก
ถีนเจตสิก คือ ธรรมชาติที่ทำให้จิตหดหู่ ท้อถอยจากอารมณ์ ได้แก่สภาพที่ จิตคลายลงจากอำนาจ ความขะมักเขม้นต่ออารมณ์ มีลักษณะดังนี้

  • มีการไม่อุตสาหะ เป็นลักษณะ
  • มีการทำลายความเพียร เป็นกิจ
  • มีความท้อถอย เป็นผล
  • มีการกระทำใจต่ออารมณ์อย่างไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) เป็นเหตุใกล้


มิทธเจตสิก
มิทธเจตสิก คือ ความโงกง่วง ได้แก่ สภาพที่ทำให้จิตเซื่องซึม ท้อถอยจากอารมณ์ มีลักษณะ

  • มีความไม่ควรแก่การงาน เป็นลักษณะ
  • มีการกั้น กำบังสัมปยุตตธรรม เป็นกิจ
  • มีความท้อถอย หรือ การโงกง่วง เป็นผล
  • มีการกระทำใจต่ออารมณ์อย่างไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) เป็นเหตุใกล้


ถีนเจตสิก มีหน้าที่ ทำให้จิตที่เกิดพร้อมกับตน ท้อถอยจากอารมณ์ ส่วน มิทธเจตสิก มีหน้าที่ ทำให้เจตสิกที่เกิดพร้อมกับตน ท้อถอยจากอารมณ์
สำหรับ วิตก (วิตกเจตสิก) อันเป็นหนึ่งในองค์ฌาน เป็นปรปักษ์กับ ถีนมิทธะ (ถีนเจตสิก และ มิทธเจตสิก)