การดำเนินกิจกรรม ของ ทะลุวัง

การทำโพล

การทำโพลของกลุ่มทะลุวัง บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

กลุ่มทะลุวังมีการทำกิจกรรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ด้วยการทำโพลตั้งคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112[1] ต่อมาในช่วงต้นปี 2565 ได้มีการเคลื่อนไหวในรูปแบบการทำโพลสำรวจเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย โดยใช้แผ่นกระดาษเขียนข้อความคำถาม และแบ่งเป็นช่องคำตอบให้ผู้ตอบแบบสำรวจใช้สติ๊กเกอร์สีแปะฝั่งที่ตนเองเห็นด้วย และทำการเดินสำรวจไปตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ ในวันที่ 8 กุมพาพันธ์ 2565 ณ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน[2] ด้วยคำถามว่า คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ในวันที่ 13 มีนาคม 2565 ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้วยคำถามว่า คุณยินดีที่จะยกบ้านของคุณให้กับราชวงศ์หรือไม่[3] โดยทำให้เกิดการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบเดียวกันแพร่กระจายไปตามการชุมนุมต่าง ๆ ของกลุ่มแนวร่วม โดยโพลดังกล่าวส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 กับสมาชิกกลุ่มและอดีตสมาชิกกลุ่มที่จัดกิจกรรมโพลสำรวจดังกล่าว โดยบางส่วนไม่ได้รับการประกันตัว[4] ต่อมาผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทะลุวัง 2 คน สุพิชฌาย์ ชัยล้อม (เมนู) และเบญจมาภรณ์ นิวาส (พลอย) ได้ลี้ภัยทางการเมืองไปยังแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา[5]

การอดอาหารและน้ำ

ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566 สมาชิกกลุ่มทะลุวังสองคน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) ยื่นขอถอนประกันตัวเอง ภายหลังจากวันที่ 9 มกราคมที่ศาลอาญาได้มีคำสั่งเพิกถอนประกัน ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ (ใบปอ) สมาชิกกลุ่มทะลุวังอีกคน และโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง (เก็ท) โดยทั้งสี่คนเป็นจำเลยคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[6] พร้อมกันนั้น ทั้งสองประกาศข้อเรียกร้องให้ "ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ... ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนผู้ใช้สิทธิ ... แสดงออกทางการเมือง" และ "พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอ ... ยกเลิกมาตรา 112 และ 116"[7] และประกาศอดน้ำและอดอาหารในเรือนจำ[8] เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2566 มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ติดต่อทนายความของทั้งสองเกี่ยวกับอาการที่ย่ำแย่ลง โดยทั้งสองปฏิเสธการรักษา การให้น้ำเกลือ และการให้อาหารทางหลอดเลือด[9] ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 จากรายงานของทนายความ แบมมีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรง ส่วนตะวันมีอาการเลือดออกตามไรฟัน นอนไม่หลับ ปวดท้อง เจ็บหน้าอก และตาพร่ามัว[10] ปฏิกิริยาจากสาธารณะ พบการติดป้ายข้อความสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[11] และกลุ่มทะลุฟ้าได้จัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง ‘ยืน หยุด ขัง' เป็นเวลา 112 ชั่วโมงหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร[12]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทะลุวัง https://thestandard.co/withdraw-bail-tantawan-bam/ https://mgronline.com/politics/detail/966000000517... https://prachatai.com/journal/2022/02/97165 https://prachatai.com/journal/2022/03/97670 https://prachatai.com/journal/2023/01/102350 https://prachatai.com/journal/2023/01/102367 https://prachatai.com/journal/2023/01/102428 https://www.thaipost.net/x-cite-news/231863/ https://web.archive.org/web/20221104020559/https:/... https://web.archive.org/web/20230116102349/https:/...