การศึกษาของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตรในประเทศไทย ของ ทัศนมาตรศาสตร์

ทัศนมาตรศาสตร์ได้รับการยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก เกือบทุกประเทศได้มีการจัดระบบในการควบคุมมาตรฐานการศึกษาและการปฏิบัติงานของผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขานี้เหมือนกับการประกอบโรคศิลปะในสาขาอื่นๆของประเทศนั้นๆ โดยมักมีการจัดระบบการศึกษาต่อเนื่องเพื่อให้มาตรฐานการดูแลรักษาในแต่ละสาขามีความทันสมัยตลอดเวลา ผู้ที่มีสิทธิ์ในการประกอบวิชาชีพนี้ต้องผ่านการศึกษาระดับอุดมศึกษาก่อนซึ่งอาจแตกต่างได้ตามบริบทของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2545 มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกันร่างหลักสูตรระดับอุดมศึกษาเป็น หลักสูตรทัศนมาตรศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2545) ดังนั้นหลักสูตรทัศนมาตรศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาหลักสูตรแรกด้านทัศนมาตรศาสตร์ของประเทศไทย ในปัจจุบันมาตรฐานหลักสูตรทัศนมาตรศาสตรบัณฑิตสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตร เป็นหลักสูตร 6 ปีการศึกษา[7] โดยมีการจัดรูปแบบหลักสูตรตามมาตรฐานของคณะกรรมการการอุดมศึกษาและเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดดำเนินการศึกษามาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาไปและสามารถสอบใบประกอบโรคศิลป์ได้ คณะทัศนมาตรศาสตร์ได้มีการปรับปรุงครั้งสำคัญ โดยเชิญ ผศ.นพ.ธวัชชัย ปานเสถียรกุล ประธานคณะอนุกรรมการสอบใบประกอบวิชาชีพโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์ของกองประกอบโรคศิลป์กระทรวงสาธารณสุขมาเป็นคณบดี และเชิญ พญ. วัฒนีย์ เย็นจิตร ผู้อำนวยการศูนย์จักษุ มหาวิทยาลัยรังสิต และกรรมการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย มาเป็นรองคณบดี เพื่อดำเนินการ

1. ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการให้บริการทัศนมาตรศาสตร์ที่เป็นสากลในปัจจุบัน

2. เตรียมความพร้อมของนักศึกษาทัศนมาตรศาสตร์ที่จะจบการศึกษาในการสอบใบประกอบวิชาชีพโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์

บัดนี้การปรับปรุงหลักสูตรได้เสร็จเรียบร้อยและผ่านการรับรองจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว 

ในปี พ.ศ. 2555 คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำการเปิดหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์ขึ้นเป็นสถาบันที่ 3 และเปิดทำการเรียนการสอนมาจนถึงปัจจุบัน