ชีวิตเบื้องต้น ของ ทิเชียน

วันเกิดจริงของทิเชียนไม่เป็นที่ทราบแน่นอน ในจดหมายที่เขียนถึงพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปนเมื่ออายุมากขึ้นทิเทียนก็อ้างว่าเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1477 ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้[1] นักเขียนผู้อื่นผู้ร่วมสมัยกับทิเทียนกล่าวว่าเกิดราวระหว่าง ค.ศ. 1473 ถึง ค.ศ. 1482 แต่นักวิชาการสมัยใหม่มีความเห็นว่าน่าจะเป็นปี ค.ศ. 1490 มากที่สุด ทิเชียนเป็นลูกคนโตในบรรดาพี่น้องสี่คนของเกรกอริโอ เวเชลลิ ผู้เป็นมีทหารและสมาชิกสภาผู้มีชื่อเสียงและภรรยาลูเชีย พ่อของทิเชียนเป็นหัวหน้าผู้ดูแลปราสาทของเมืองพิเอเวดิคาดอเร และบริหารเหมืองตามท้องถิ่นให้กับเจ้าของ[2] ญาติของทิเทียนหลายคนรวมทั้งปู่เป็นนายทะเบียน ครอบครัวของทิเชียนมาจากครอบครัวที่มีหลักฐานที่มีหลักแหล่งอยู่ในบริเวณที่ปกครองโดยเวนิส

เมื่อมีอายุได้ราว 10 ถึง 12 ปีทิเชียนและน้องชายผู้ที่อาจจะติดตามมาภายหลังถูกส่งตัวไปหาลุงที่เวนิสเพื่อเข้าไปฝึกงานกับช่างเขียน เซบาสเตียน ซุคคาโตผู้เป็นจิตรกรที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงผู้อาจจะเป็นเพื่อนของครอบครัว ผู้ที่ต่อมาจัดการให้สองพี่น้องไปฝึกงานกับเจ็นทิเล เบลลินีจิตรกรผู้มีอายุ และต่อมาก็ไปฝึกงานกับจิโอวานนี เบลลินี น้องชายของเจ็นทิเล[2] ในขณะนั้นพี่น้องเบลลินี โดยเฉพาะจิโอวานนีเป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงของเวนิส ทิเชียนก็รวมกลุ่มศิลปินรุ่นๆ เดียวกันในเวนิสซึ่งรวมทั้ง จิโอวานนิ พาลมา ดา เซรินาลตา, ลอเร็นโซ ลอตโต (Lorenzo Lotto) , เซบาสเตียน เดล พิออมโบ (Sebastiano del Piombo) , และจอร์โจ ดา คาสเตลฟรังโค (Giorgio da Castelfranco) หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า จอร์โจเน ฟรานเชสโค เวเชลโล น้องของทิเชียนต่อมาก็เป็นจิตรกรผู้มีชื่อพอตัวของเวนิส

เชื่อกันว่าจิตรกรรมฝาผนังเฮอร์คิวลีสที่วังโมโรซินี (Morosini Palace) เป็นงานชิ้นแรกๆ ที่สุด ของทิเทียนและอีกชิ้นหนึ่งคือ“พระแม่มารีและพระบุตร ซึ่งเป็นแบบเบลลินีที่เรียกกันว่า “มาดอนน่ายิบซี” (Gypsy Madonna) ที่เวียนนา และ “การประกาศของพระแม่มารี” (Visitation of Mary and Elizabeth) ที่คอนแวนต์ซานอันเดรียปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เวนิส

ทิเทียนเป็นผู้ช่วยของจอร์โจเนแต่นักวิจารณ์ศิลปะร่วมสมัยเห็นว่างานของทิเทียนมีฝีมือดีกว่าเช่นงานจิตรกรรมฝาผนัง (ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว) ที่ทั้งสองคนทำให้ฟอนดาชิโอ เดอิ เทเดสชิ และความสัมพันธ์ระหว่างจิตรกรทั้งสองคนก็ออกจะเหมือนเป็นคู่แข่งกันมากกว่า การแยกงานของจิตรกรสองคนนี้ในสมัยนี้เป็นเรื่องที่ยังโต้แย้งกันระหว่างนักวิชาการ และในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มีงานหลายชิ้นแต่เดิมเชื่อกันว่าเป็นงานของจอร์โจเนกลับมาเชื่อกันว่าเป็นของทิเชียน แต่ไม่มีงานของทิเชียนที่เปลี่ยนกลับไปเป็นของจอร์โจเน งานชิ้นแรกๆ ที่สุดของทิเชียนเป็นภาพ “พระเยซูปางทรมาน” (Ecce Homo) ที่วัดซานรอคโค (Chiesa di San Rocco) เป็นภาพที่ก่อนหน้านั้นเชื่อกันว่าเป็นงานเขียนโดยจอร์โจเน

ช่างเขียนสองคนนี้เป็นที่รู้จักกันในฐานะที่เป็นผู้นำในการเขียนภาพแบบ “สมัยใหม่” (arte moderna) ซึ่งเป็นการเขียนที่มีความยืดหยุ่นกว่าเดิม และไม่เน้นความสมมาตรอย่างเช่นที่พบในงานของเจ็นทิเล เบลลินี

ระหว่างปี ค.ศ. 1507 ถึงปี ค.ศ. 1508 จอร์โจเนได้รับสัญญาจากรัฐให้เขียนจิตรกรรมฝาผนังภายนอกหอพ่อค้าเยอรมัน (Fondaco dei Tedeschi) ทิเชียนและมอร์โต ดา เฟลเตร (Morto da Feltre) ก็ทำงานชิ้นนี้ด้วย งานชิ้นนี้ยังมีเหลืออยู่บ้างแต่เป็นของจอร์โจเน งานของทิเชียนและจอร์โจเนเป็นที่ทราบเพราะงานสลักโลหะของฟอนทานา หลังจากจอร์โจเนเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1510 ทิเชียนก็ยังคงเขียนภาพแบบจอร์โจเนอยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็เริ่มวิวัฒนาการมาเป็นเอกลักษณ์ของตนเองซึ่งเป็นการใช้ฝีแปรงที่แสดงความรู้สึกมากขึ้น

พรสวรรค์ของทิเชียนในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังจะเห็นได้จากงานเขียนในปี ค.ศ. 1511 ที่วัดคาร์เมไลท์ที่ปาดัว และที่สคูโอลาเดลซานโต งานบางส่วนยังหลงเหลืออยู่บ้างรวมทั้ง “การพบกันที่ประตูทอง” (Meeting at the Golden Gate) , ฉากสามฉากจากชีวิตของนักบุญแอนโทนีแห่งปาดัว, “การฆาตกรรมของหญิงสาวโดยสามี” (Murder of a Young Woman by Her Husband) , “เด็กกล่าวเป็นพยานในความบริสุทธิ์ของแม่” (A Child Testifying to Its Mother's Innocence) และ “นักบุญรักษาชายหนุ่มแขนหัก” (The Saint Healing the Young Man with a Broken Limb)

เมื่อปี ค.ศ. 1512 ทิเชียนย้ายกลับไปเวนิสจากปาดัว และในปี ค.ศ. 1513 ก็ได้รับใบอนุญาตจากหอพ่อค้าเยอรมัน และได้เป็นหัวหน้างานของรัฐบาลที่มีหน้าที่บริหารการเขียนภาพต่อจากที่จิโอวานนี เบลลินีที่ทำค้างไว้ภายในวังของดยุก ทิเชียนตั้งสติวดิโอบนแกรนด์คาแนลที่ซานซามูเอล แต่ก็ไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากใบอนุญาตนี้จนกระทั่งหลังจากที่เบลลินีเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1516 ใบอนุญาตนี้ทำให้ทิเชียนได้รับเงินรายได้ปีละ 20 คราวน์และได้รับยกเว้นจากภาษีบางอย่างเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเขียนภาพเหมือนของดยุกของเวนิสเป็นจำนวนเงิน 8 คราวน์ต่อภาพ ทิเชียนเขียนด้วยกันทั้งหมด 5 ภาพ