ประวัติ ของ ที่หยุดรถไฟพระราชวังสนามจันทร์

ที่หยุดรถไฟพระราชวังสนามจันทร์ ในอดีตเคยเป็นสถานีรถไฟหลวงประจำพระราชวังสนามจันทร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารสถานีรถไฟหลวงขึ้นในราวปี พ.ศ. 2453 เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ และทรงใช้สถานีรถไฟหลวงพระราชวังสนามจันทร์นี้ เป็นสถานีสำหรับเสด็จโดยรถไฟไปยังที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเสด็จไปเพื่อตรวจตราการซ้อมรบของกองเสือป่าและลูกเสือทั่วประเทศ ยามที่เสด็จมาประทับที่พระราชวังสนามจันทร์[2] ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งของสถานีรถไฟหลวงดังกล่าว จะอยู่ห่างจากจุดพักผู้โดยสารในปัจจุบันออกไปประมาณ 360 เมตร โดยจะอยู่ด้านหลังของพระราชวังสนามจันทร์พอดี (ประมาณ สทล.ที่ 19/14) ในขณะที่ตำแหน่งของศาลาพักผู้โดยสารของที่หยุดรถพระราชวังสนามจันทร์ในปัจจุบัน จะตั้งเยื้องมาทางฝั่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ (สทล.ที่ 50/13)[3]

จนเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานีรถไฟหลวงพระราชวังสนามจันทร์ก็มิได้ถูกใช้งานอีก เนื่องจากไม่มีเจ้านายพระองค์ใดเสด็จมาประทับที่พระราชวังสนามจันทร์ การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้ทำการรื้อถอนอาคารสถานีรถไฟหลวงพระราชวังสนามจันทร์มาเก็บรักษาไว้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2511 ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้ลงมติว่าจะนำอาคารสถานีรถไฟหลวงนี้มาประกอบขึ้นใหม่ที่สถานีรถไฟหัวหิน เพื่อให้เป็นสถานีขึ้น-ลงรถไฟ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยามที่เสด็จมาประทับที่วังไกลกังวล อาคารสถานีรถไฟหลวงพระราชวังสนามจันทร์ จึงถูกนำมาประกอบขึ้นใหม่ที่สถานีรถไฟหัวหิน

การประกอบสถานีรถไฟหลวงขึ้นใหม่นี้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2517 ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2517 โดยมีสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นองค์ประธาน ในการนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชทานนามอาคารรถไฟหลวงพระราชวังสนามจันทร์นี้ขึ้นใหม่ว่า พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ[4]

สำหรับพื้นที่เดิมของสถานีรถไฟหลวงพระราชวังสนามจันทร์ หลังจากที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ย้ายอาคารสถานีออกไปแล้ว ก็ได้มีการสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2540 ห่างจากที่ตั้งเดิมของสถานีรถไฟหลวงประมาณ 360 เมตร เยื้องมาทางด้านหลังของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่นี้ได้มีการออกแบบให้เข้ากับสถาปัตยกรรมของพระราชวังสนามจันทร์[5] จากนั้นจึงจัดตั้งเป็น ที่หยุดรถไฟพระราชวังสนามจันทร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่โดยสารรถไฟ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ที่หยุดรถไฟพระราชวังสนามจันทร์ http://www.ghousehuahin.com/index.php?lay=show&ac=... http://maps.google.com/maps?ll=13.82382,100.04130&... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.8238... http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Foru... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=13.82382&long=100.0... http://www.webcitation.org/query?id=12565582362600... http://www.wikimapia.org/maps?ll=13.82382,100.0413... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%...