ประวัติ ของ ทูเคเซเลเบรชัน

แนวคิดในการสร้างความร่วมมือระหว่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส เกิดขึ้นจากผู้บริหารรุ่นใหม่ของทั้ง 2 บริษัท คือ ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจเพลงของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และวิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่การเงินของอาร์เอส ตอบรับเสียงเรียกร้องของผู้บริโภคที่มีมาอย่างยาวนานว่าต้องการให้ศิลปินจากทั้ง 2 ค่าย อยู่บนเวทีเดียวกัน โดยได้เริ่มต้นพูดคุยกันมาเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี โดยที่ผู้บริหารสูงสุดของทั้ง 2 ฝ่าย (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการของอาร์เอส) ต่างรับรู้และให้พูดคุยกันเอง แต่เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาที่ไม่เหมาะสม ความร่วมมือดังกล่าวจึงยังไม่เกิดขึ้น[1] จนกระทั่งสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย คลี่คลายลง และอาร์เอสเริ่มกลับมาทำธุรกิจเพลงอีกครั้ง[2] ทั้ง 2 บริษัทจึงจัดการประชุมขึ้น จนกระทั่งบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในที่สุด[3]

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2566 ยุทธนา บุญอ้อม รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานธุรกิจการแสดง ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และผู้จัดคอนเสิร์ตชื่อดังของประเทศไทย ได้โพสต์ลงในช่องทางสื่อสังคมส่วนตัวของเขา และระบุใจความสำคัญว่า จะมีการจัดคอนเสิร์ตร่วมกันระหว่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส ภายในปีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการร่วมมือกันระหว่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส เป็นครั้งแรก จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความสนใจให้แก่วงการเพลงไทย[4] และต่อมา ทั้งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส ได้จดทะเบียนจัดตั้งกิจการร่วมค้าขึ้นในชื่อ อะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส เพื่อดำเนินการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้โดยเฉพาะ[5] โดยทั้ง 2 บริษัทถือหุ้นในกิจการร่วมค้าด้วยสัดส่วนฝ่ายละ 50% เท่ากัน[1]

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2566 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส ในนามกิจการร่วมค้า อะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส ได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวชุดคอนเสิร์ตชื่อว่า แกรมมี่ อาร์เอส คอนเสิร์ตส อย่างเป็นทางการ ที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ โดยคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นโครงการไตรภาคของทั้ง 2 บริษัท ที่จะจัดในรูปแบบคอนเสิร์ตชุด และเน้นการแสดงของศิลปินที่มีชื่อเสียงจากค่ายเพลงใหญ่ทั้ง 2 ค่ายเพลง ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 100 คน ในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายแนวดนตรี[6] รวมถึงมีการสลับเพลงร้องข้ามค่าย จับคู่ศิลปินข้ามค่าย โดยมีแผนจัดคอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี (พ.ศ. 2566 - 2568) และทุกคอนเสิร์ตจัดแสดงที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี[7] รวมถึงมีการเผยแพร่บันทึกการแสดงสดย้อนหลังในช่องทางบริการสื่อผ่านอินเทอร์เน็ตที่แอมะซอนไพรม์วิดีโอ[8] โดยทั้ง 2 บริษัทจะแบ่งงานกันทำในสิ่งที่แต่ละบริษัทถนัด โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ดูแลการจำหน่ายบัตรเข้าชมคอนเสิร์ต (ร่วมกับไทยทิกเก็ตเมเจอร์)[2] และมอบหมายให้จีเอ็มเอ็ม โชว์ รับผิดชอบในการผลิตและสร้างสรรค์ทุกคอนเสิร์ตทั้งหมด[9] ส่วนอาร์เอสดูแลภาพรวม เช่น การควบคุมงบประมาณ และการประชาสัมพันธ์[2] ซึ่งในปีแรกคือ พ.ศ. 2566 เน้นจัดคอนเสิร์ตรวบรวมศิลปินที่มีชื่อเสียงในช่วงยุค 90 และยุค 2000 เป็นหลัก จำนวน 3 คอนเสิร์ต ซึ่งแต่ละคอนเสิร์ตจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน[10] โดยใช้เงินลงทุนปีละ 220 ล้านบาท[11] คาดว่ากิจการร่วมค้า อะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส จะมีรายได้ในปีแรกจำนวน 220 ล้านบาท[7] โดยเป็นกำไรปีละ 100 ล้านบาท[11] และคาดว่าภายใน 3 ปีจะมีรายได้จำนวน 660-750 ล้านบาท และมีกำไรคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของรายได้รวม[12] หลังจากนั้นจะพิจารณาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจต่อไป[11]

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ทั้งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส ได้ปรับโครงสร้างดำเนินงานในกิจการร่วมค้า อะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการนำบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจดนตรีของทั้ง 2 บริษัท เข้าสู่กระบวนการระดมทุนสาธารณะผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส ได้ยกเลิกการดำเนินงานร่วมกันโดยตรง และให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค และอาร์เอส มิวสิค ทำสัญญาร่วมดำเนินงานกันแทน และแก้ไขชื่อกิจการร่วมค้าเป็น อะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส โปรเจกต์ แต่สัดส่วนยังคงเป็นฝ่ายละ 50% เท่ากันเช่นเดิม[13]

ใกล้เคียง