ประวัติ ของ ท่าอากาศยานนครราชสีมา

การก่อตั้ง

พ.ศ. 2529 ท่าอากาศยานนครราชสีมาเริ่มเปิดทำการบินเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก โดยตั้งอยู่ที่ในตัวเมือง และใช้ทางวิ่งและลานจอดของกองทัพอากาศกองบิน 1 ในการทำการบิน แต่ประสบปัญหาเนื่องจากต้องใช้พื้นที่ของกองทัพบกในการสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร ซึ่งอยู่ห่างจากลานจอดประมาณ 2 กิโลเมตร เพราะกองทัพอากาศไม่สามารถจัดสรรพื้นที่บริเวณติดกับลานจอดให้กรมการบินพาณิชย์ (กรมท่าอากาศยานในปัจจุบัน) ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร และยังมีปัญหาเข้าออกท่าอากาศยานของผู้โดยสาร เนื่องจากอยู่ในเขตทหาร ซึ่งมีมาตรการรักษาความปลอดภัยค่อนข้างเข้มงวด

ใน พ.ศ. 2537 กรมการบินพาณิชย์ (กรมท่าอากาศยานในปัจจุบัน) จึงจัดหาที่ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ โดยได้พื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง–จักราช ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และได้เริ่มก่อสร้าง จากนั้นในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ได้เริ่มเปิดใช้บริการท่าอากาศยาน สายการบินพานิชย์ที่ให้บริการในขณะนั้นจึงย้ายไปใช้ท่าอากาศยานแห่งใหม่ทั้งหมด[4]

การพยายามตั้งเที่ยวบิน

หลังจากการย้ายท่าอากาศยานไปที่ตั้งแห่งใหม่ก็มีปัญหาเรื่องความสะดวกสบาย เพราะตั้งอยู่ห่างไกลจากเทศบาลนครนครราชสีมา จึงทยอยยกเลิกการบินจนหมด โดยเริ่มจากการบินไทยที่พยายามบินในเส้นทางจากกรุงเทพฯ-ดอนเมืองอยู่ราว 2 ปี จากนั้นแอร์อันดามันได้เข้ามาบินแทนในช่วงปี 2542–2543 โดยมีการช่วยเหลือจากการบินไทย ด้วยการซื้อที่นั่งช่วยจำนวน 10 ที่นั่งในทุกเที่ยวบิน จากนั้นการบินไทยก็พยายามบินเองอีกครั้ง ต่อด้วยไทยแอร์เอเชียที่นำสายการบินราคาประหยัดเข้ามาบินเพื่อหวังให้อยู่ได้ แต่ก็ต้องปิดตัวเช่นกัน[5]

ต่อมาแฮปปี้แอร์ได้เปิดเส้นทางบินจากกรุงเทพฯ-สุวรรณภูมิ ใน พ.ศ. 2553[6] จากนั้นไทยรีเจียนัลแอร์ไลน์จึงเข้ามาทำการบินในเส้นทางเดียวกันใน พ.ศ. 2554[7] จากนั้นกานต์แอร์จึงเข้ามาบินแทน แต่อยู่บนเส้นทางจากเชียงใหม่ โดยเริ่มเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 แต่ต่อมาต้องยกเลิกการทำการบิน เนื่องจากปัญหาด้านใบอนุญาตทำการบิน[8]

ในปี พ.ศ. 2560 โรงเรียนการบินกรุงเทพ บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ BAC (Bangkok Aviation Center) ได้ขอกรมท่าอากาศยานเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อฝึกนักเรียนการบิน[9]

สายการบินนิวเจนแอร์เวย์เป็นสายการบินที่ 7 ที่ได้เปิดเที่ยวบินมายังท่าอากาศยานนครราชสีมา จากกรุงเทพฯ-ดอนเมือง, ภูเก็ต และ เชียงใหม่ โดยเริ่มบินเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ใช้เครื่องบินโบอิง 737-400 ขนาด 168 ที่นั่ง และเครื่องบินโบอิง 737-800 ขนาด 189 ที่นั่งแต่บินได้ 4 เดือนก็ต้องหยุดบิน เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารน้อยมาก บางเที่ยวบินมีผู้โดยสารไม่ถึง 50 คน จนขาดทุนตลอดทุกเดือน[10]

แผนปรับปรุง

ล่าสุดท่าอากาศยานนครราชสีมาได้ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร โดยมีการทาสีใหม่ และปรับปรุงป้ายไฟบนอาคารผู้โดยสาร

ในอดีตมีแผนปรับปรุงที่เกี่ยวกับท่าอากาศยานนครราชสีมาออกมาอยู่หลายแบบ แต่ส่วนมากจะไม่มีความคืบหน้า เช่น

  • พ.ศ. 2558 และ 2560 กระทรวงคมนาคมมีแผนในการใช้พื้นที่ของท่าอากาศยานนครราชสีมาเพื่อตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานออกมาหลายครั้ง เนื่องจากท่าอากาศยานนครราชสีมายังมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้งานเป็นป่าร้างอีกมาก แต่ก็ล้มไปหลายครั้ง[11][12] และปัจจุบันยังไม่มีอาคารศูนย์ซ่อมเครื่องบินในบริเวณท่าอากาศยาน
  • พ.ศ. 2561 หลังจากนิวเจนแอร์เวย์ได้ยกเลิกเที่ยวบินไป มีแผนจะนำสายการบินต่างชาติเข้ามาบินในเส้นทางท่าอากาศยานนครราชสีมา เช่นคุนหมิงแอร์ไลน์[13] เนื่องจากท่าอากาศยานนครราชสีมาได้รับการประกาศเป็นท่าอากาศยานศุลกากรเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2542[3] แต่แผนนี้ก็ไม่ค่อยเป็นที่สนใจของคนนอกจังหวัดนครราชสีมาสักเท่าไหร่นัก และมีแผนที่จะตั้งสายการบินของตนเอง ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้[14]
    • โดยมีการสำรวจความเห็นใน พ.ศ. 2562 ว่าชาวจังหวัดนครราชสีมาต้องการให้เปิดท่าอากาศยานนครราชสีมาถึงร้อยละ 97[15]

ในปี พ.ศ. 2562 กรมท่าอากาศยานมีแผนที่จะให้เอกชนมาร่วมลงทุนท่าอากาศยานนครราชสีมา ร่วมกับท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ โดยกรมท่าอากาศยานเบื้องต้นพบว่าท่าอากาศยานนครราชสีมามีความเหมาะสมกับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน[16] และมีทุนจีนสนใจลงทุนปรับปรุงพื้นที่ พร้อมเพิ่มความยาวรันเวย์เป็น 3,000 เมตร เพื่อให้รับเครื่องเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ และให้ท่าอากาศยานนครราชสีมาเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ และมีการเสนอเพิ่มเติมว่า จะมีการตกแต่งเพิ่มเติมหรือพัฒนาบริเวณโดยรอบให้ดูสวยงาม แต่ต้องรอให้อธิบดีกรมท่าอากาศยานลงมาหารือด้วยตนเอง ถึงจะมีอำนาจในการตัดสินใจว่า จะสามารถร่วมลงทุนกับจีนได้หรือไม่ พร้อมกับมีการติดต่อสายการบิน JC (Cambodia) International Airline ของกัมพูชาว่าจะให้พักเครื่องที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา เวลาบินจากกรุงเทพฯ ไปตามเมืองต่างๆ ในกัมพูชาหรือเวียดนาม[17]

ใกล้เคียง

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง–พัทยา) ท่าอากาศยานนานาชาติฮะมัด ท่าอากาศยานนานาชาติปารีส-ชาร์ล เดอ โกล ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี

แหล่งที่มา

WikiPedia: ท่าอากาศยานนครราชสีมา http://executivekorat.com/archives/13067 http://www.koratdaily.com/blog.php?id=668 http://www.koratdaily.com/blog.php?id=9783 http://www.koratstartup.com/2-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.airports.go.th https://mgronline.com/business/detail/961000003240... https://www.thansettakij.com/content/126726 https://wekorat.com/2015/02/01/kan-airlines-korat/ https://www.komchadluek.net/news/economic/407883