โครงการในอนาคต ของ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา_(ระยอง–พัทยา)

ภายหลังเหตุการณ์บุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง จนเป็นเหตุทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาต้องกลับมาเปิดทำการและประสบปัญหาการแออัดของท่าอากาศยาน รัฐบาลได้เห็นความจำเป็นในการเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อใช้งานเป็นท่าอากาศยานหลักแห่งที่ 3 ของประเทศ และรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังจังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราดให้มากขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อศึกษาแผนการจัดสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิมให้อยู่ในสภาพที่พร้อมรองรับการใช้งานที่มากขึ้น โดยโครงการได้เริ่มศึกษาตั้งแต่ พ.ศ. 2552 จนกระทั่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้หยิบแผนศึกษากลับมาพิจารณาและบรรจุเป็นแผนแม่บทหลักของการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ใน พ.ศ. 2561

ต่อมา สกพอ. มีมติให้แยกแผนการดำเนินการออกเป็นสองส่วน ได้แก่เมืองการบินและอาคารผู้โดยสาร ให้กองทัพเรือเป็นผู้จัดหาเอกชนเข้ามาดำเนินการภายใต้รูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ให้การบินไทยเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับกองทัพเรือ โดยการบินไทยได้ลงนามความร่วมมือระหว่างสายการบินและแอร์บัส เพื่อจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐานของแอร์บัสแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประมูล

กองทัพเรือได้จัดให้มีการประมูล โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนของเมืองการบินและอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ด้วยวิธีการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยมีเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอเป็น 3 กิจการร่วมค้า ได้แก่

  1. กิจการร่วมค้า บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide)
  2. กิจการร่วมค้าบีบีเอส (บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน))
  3. กิจการร่วมค้าแกรนด์แอสเซทคอนซอร์เทียม (บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน), บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น จำกัด (มหาชน), บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน))

ภายหลังกองทัพเรือได้ตัดสิทธิ์การประมูลของกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เนื่องจากนำส่งข้อเสนอทางเทคนิคและข้อเสนอด้านการเงินช้ากว่ากำหนด โดยทางกลุ่มได้ยื่นขอความคุ้มครองการประมูลและยื่นฟ้องกองทัพเรือต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกรับข้อเสนอที่ส่งช้าเกินเวลาเข้าพิจารณา ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกมีกรอบเวลาในการคัดเลือกที่ชัดเจนเพื่อให้การแข่งขันในการยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม และเพื่อป้องกันมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน อันเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการในฐานะผู้ทำหน้าที่คัดเลือกคู่สัญญาจะต้องวางตัวเป็นกลางและรักษากติกา กล่าวคือต้องดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกมีมติยืนมติเดิมคือไม่รับข้อเสนอทั้งชุดของกลุ่มธนโฮลดิ้ง และดำเนินการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค (ซองที่ 2) และข้อเสนอด้านการเงิน (ซองที่ 3) ต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีมติพิพากษากลับและออกคำสั่งคุ้มครองการประมูล โดยให้คณะกรรมการรับซองของกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ที่เกินเวลาเข้าร่วมพิจารณา โดยศาลปกครองมีคำสั่งพิพากษาเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2563 ว่าให้กรรมการรับซองของกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร กลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณา เนื่องจากถือเป็นกระบวนการทางธุรกรรม ไม่ได้มีผลต่อห้วงเวลาที่กำหนดไว้ ทำให้คณะกรรมการต้องรับซองของกลุ่มธนโฮลดิ้งกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณา

ผลการประมูลอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563 คณะกรรมการฯ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการผ่านหนังสือที่ กพอ.ทร. 79/2563 ว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส นำโดยบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ เป็นผู้ยื่นข้อเสนอและผลตอบแทนที่ดีที่สุดแก่รัฐฯ[6] โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการประมูลและผลการเจรจาระหว่างคณะกรรมการฯ และ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด อันเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งโดยกิจการร่วมค้าบีบีเอส เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2563 พร้อมทั้งลงมติจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการโครงการร่วม เพื่อเป็นตัวกลางในการวางแผนและประสานงานการก่อสร้างโครงการร่วมกันระหว่าง บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด และ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

แนวทางการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. โครงการในความรับผิดชอบของเอกชน (กิจการร่วมค้าบีบีเอส)
    1. อาคารผู้โดยสาร 3
    2. ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน
    3. ศูนย์ธุรกิจการค้า
    4. คลังสินค้า และเขตประกอบการค้าเสรี
    5. ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติก
  2. โครงการในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ
    1. ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (ดำเนินการร่วมกับการบินไทย)
    2. ศูนย์ฝึกอบรมอากาศยาน
    3. อาคารผู้โดยสาร 1 และ 2

ใกล้เคียง

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง–พัทยา) ท่าอากาศยานนานาชาติฮะมัด ท่าอากาศยานนานาชาติปารีส-ชาร์ล เดอ โกล ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี

แหล่งที่มา

WikiPedia: ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา_(ระยอง–พัทยา) http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/805618 http://www.gcmap.com/airport/UTP http://bts.listedcompany.com/newsroom/270220202029... http://worldaerodata.com/wad.cgi?airport=VTBU //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://www.flightradar24.com/data/flights/tg8419 https://www.routesonline.com/news/38/airlineroute/... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:U-Tapa...