บั้นปลายชีวิต ของ ท้าวอินทรสุริยา_(เนื่อง_จินตดุล)

ต้นปี พ.ศ. 2505 ท้าวอินทรสุริยา สรรพาหารพิจาริณี ได้กราบบังคมทูลลา ถือเพศอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวอีกครั้ง ณ วัดโกมุทรัตนาราม จังหวัดชลบุรี โดยมีหลวงพ่อสาลี เป็นผู้ประกอบพิธี เมื่อบวชแล้วก็ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดธาตุทอง ท่านได้อุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์ให้กับการบำรุงวัด สถานพยาบาล โรงเรียน และสถาบันแม่ชี และท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่ชอบมาก คือ วัดวชิราลงกรณวราราม ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ท้าวอินทรสุริยา มีโอกาสได้รู้จักกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และอาจารย์สายพระป่าในประเทศไทยหลายรูป ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงขอร้องให้ ท้าวอินทรสุริยา เข้ามาพำนักในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระราชทานห้องพักในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานให้

ท้าวอินทรสุริยา สรรพาหารพิจาริณี ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2517 เวลา 19.10 น. ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สิริรวมอายุได้ 88 ปี 11 เดือน[2] ท้าวอินทรสุริยาเกิดในเดือนธันวาคม ถึงแก่อนิจกรรมในเดือนตุลาคม ตอนมีอายุ 88 ปี 11 เดือน เหมือนกับพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ที่ท้าวอินทรสุริยา ถวายการอภิบาลและถวายงานอย่างใกล้ชิดมาตลอด

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน น้ำหลวงอาบศพ โกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจา 6 คันตั้งประกอบเกียรติยศ ปี่ไฉน 1 กลองชนะ 10 ประโคมเวลารับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และให้ตั้งโกศศพบำเพ็ญกุศลไว้ ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จฯในการพระราชทานเพลิงศพท้าวอินทรสุริยา สรรพาหารพิจาริณี ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส โดยทรงพระดำเนินขึ้นบนเมรุ ทรงวางดอกไม้จันทน์พระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง

ใกล้เคียง

ท้าวอินทรสุริยา (เชื้อ พึ่งบุญ) ท้าวอินทรสุริยา (เนื่อง จินตดุล) ท้าวอุปละ (มุง รามางกูร) ท้าวอินทรสุริยา (อาบ ชูโต) ท้าวอัชบาล ท้าวอ้ายยวม ท้าวอัศกรรมมาลา ท้าวสุรนารี ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร