ประวัติ ของ ท้าวอุปละ_(มุง_รามางกูร)

เป็นบุตรลำดับแรกของพระอุปละ (คำมั่น) กรมการธาตุพนมเดิม มารดานามอาดยานางรัตนะหน่อแก้วชาวบ้านธาตุพนม เป็นหลานพระมหาสุระนันทากับอาดยานางแก้วอาไพธิดาเจ้าพระรามราชฯ (ราม) พระมหาสุระนันทาเป็นบุตรเจ้าสุทธฮาชและน้องอาดยานางยอดแก้วสีบุนมาภรรยาเจ้าพระรามราชฯ เจ้าสุทธฮาชและนางยอดแก้วสีบุนมาเป็นบุตรธิดาเจ้าสีสุมังกับนางคำส่วงตา เป็นหลานเจ้าพระยาหลวงกางสมคาม (คำวิสุด) โอรสกษัตริย์จำปาสักกับสนมไม่ปรากฏนาม ท้าวอุปละ (มุง) จึงมีเชื้อราชวงศ์เวียงจันทน์และขุนโอกาสธาตุพนมทางนางแก้วอาไพผู้ย่าและราชวงศ์จำปาสักทางพระมหาสุระนันทาผู้ปู่[3] ก่อน พ.ศ. ๒๔๐๒ พระอุปละ (คำมั่น) บิดาร้องขอหลวงอามาตย์ (อำนาจ) นายกองข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนมลำดับแรกหลังการแตกศึกเจ้าอนุวงศ์ ตั้งบุตรชายตนเป็นท้าวสุวันนะเสฏฐากรมการ ครั้นบิดาถึงแก่กรรมเลื่อนเป็นท้าวอุปละแทนบิดา ต่อมาท้าวราชวัตริ์ (คูณ) นายกองข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนมลำดับ ๓ ญาติชาวบ้านชะโนดเมืองมุกดาหารถึงแก่กรรม เจ้าเมืองนครพนมและมุกดาหารเห็นควรเลื่อนเป็นนายกองข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนมแทน[4] พ.ศ. ๒๔๐๒ พระยายมราชขุนนางสยามเป็นแม่กองสักเลกไพร่พลเมืองหัวเมืองลาวตั้งขึ้นเป็นท้าวอุปละนายกองข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนมเป็นหัวหน้ามีอำนาจควบคุมตัวเลกข้าพระธาตุพนม ให้กรมการท้าวเพี้ยบ้านธาตุพนมฟังบังคับบัญชาท้าวอุปละ (มุง) ธาตุพนมมีเลกข้าพระจำนวน ๑,๕๔๘ คน ตัวเลกมากใกล้เคียงหัวเมืองอื่น แต่เลกข้าพระตั้งเรือนย้ายทำกินในแดนเมืองนครพนมและมุกดาหารซึ่งมักแทรกแซงกิจการไพร่ส่วยกองข้าเลกพระธาตุพนมเสมอ ท้าวอุปละจึงขัดแย้งเจ้าเมืองใกล้เคียงบ่อยครั้ง[5] พ.ศ. ๒๔๒๒ เลื่อนเป็นเพี้ยอัคคะฮาชเทียบอุปฮาตเมืองเล็กเดือนเศษถึงแก่กรรม[6] ราชการตั้งท้าวสุวันนะคำถงบุตรคนโตเป็นท้าวอุปละหัวหน้าควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุพนมแทน[7] ดังเอกสาร ร.๕ ม.๒ (๑๒ก.) เล่ม ๒๐ ร.ศ.๑๐๗ ว่า ...ครั้นถึง จศก (พ.ศ. ๒๔๑๗) ท้าวอุปละ (มุง) ถึงแก่กรรม ท้าวถงบุตรอุปละ (มุง) เลื่อนขึ้นเป็นท้าวอุปละแทนบิดาควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกสืบต่อมา... [8]

การศาสนา

พื้นเมืองพนมระบุเป็นผู้ใฝ่รักษาอุโบสถศีลนุ่งขาวในวัดพระธาตุพนมประจำชาวบ้านจึงออกนามพ่อออกอุปละ[9] บำรุงศาสนาในธาตุพนมหลายประการ เช่น ให้ข้าโอกาสบูรณะฐานพระธาตุพนมและกมมะเลียน บูรณะพระธาตุตุ้มพะวังบ้านนาวาง เมืองหนองบก แขวงคำม่วน โดยนำเศษปูนจากธาตุพนมไปผสม บูรณะพระธาตุน้อยและสิมวัดสีบุญเฮือง บ้านศรีบุญเรืองทิศเหนือธาตุพนม สร้างหอมเหสักเจ้าเฮือน ๓ พระองค์ซึ่งพังทลายลง ให้คนทำความสะอาดต้นโพธิ์ปากก่ำประจำ ให้พวกพระเสพบรรเลงมโหรีถวายพระธาตุพนม[10]

พี่น้องและบุตรธิดา

มีพี่น้อง ๗ ท่านคือท้าวอุปละ (มุง), เพี้ยคำบุ่งกวานบ้านปากก่ำ, พระหานลือไซย (ผูย) บ้านนาวาง, นางคำทุง, นางคำเผาะ, นางหนู, นางแสนคำติ้ว ภริยาปรากฏนาม ๑ ท่านคือนางจันทาวะดีชาวธาตุพนม บุตรธิดา ๗ ท่านคือพระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) หรือท้าวสุวันนะคำถง นายกองข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนม หรือผู้ควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุพนม หรือนายกองบ้านธาตุพนมลำดับ ๕, ท้าวไซยะเสน (เหลา) หรือท้าวสุวันนะคำเหลา, เพี้ยไซยะบุตร (ลือ) หรือท้าวสุวันนะคำลือ, นางแดง, นางสุเทพาวะดี, นางประทุมมาวะดี, นางหล่า[11]

ถึงแก่อนิจกรรม

พื้นเมืองพนมระบุถึงแก่กรรม ณ บ้านธาตุพนม ฉศก พ.ศ. ๒๔๑๗ บ้างว่า ๒๔๒๒ กรมการชาวบ้านจัดเมรุพิธีที่หอขวางดงฮ้างริมฝั่งโขงบ้านหนองหอย ตำบลธาตุพนม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดป่าสุริโย[12] สร้างธาตุบรรจุอัฐิทิศเหนือนอกกำแพงแก้วพระธาตุพนมต่อมารกร้าง พ.ศ. ๒๕๑๘ พระธาตุพนมถล่มจึงรื้อธาตุที่พังทั้งหมดออก

ใกล้เคียง

ท้าวอินทรสุริยา (เชื้อ พึ่งบุญ) ท้าวอินทรสุริยา (เนื่อง จินตดุล) ท้าวอุปละ (มุง รามางกูร) ท้าวอินทรสุริยา (อาบ ชูโต) ท้าวอัชบาล ท้าวอ้ายยวม ท้าวอัศกรรมมาลา ท้าวสุรนารี ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร