พระไพศรพณ์ ของ ท้าวเวสวัณ

พระไพศรพณ์

ในประเทศไทยมีคติการบูชาท้าวเวสวัณอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเรียกเทพเจ้าองค์นี้ว่า พระไพศรพณ์ ตามนามในภาษาสันสกฤต ไวศฺรวณ มือขวาถือตะบอง มือซ้ายยกเสมอหน้าอกแสดงการห้ามปรามมิให้(เทวดา)ทำผิด เนื่องจากมีหน้าที่รักษาความเรียบร้อยยุติธรรมในสวรรค์ ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของอัยการมานาน คาดว่าตั้งแต่แรกตั้งกรมอัยการเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้วเนื่องจากยกกระบัตร (ชื่อเรียกอัยการในสมัยโบราณ) หรืออัยการในปัจจุบันก็มีหน้าที่รักษาความยุติธรรมและกฎหมายเช่นเดียวกับหน้าที่ของพระไพศรพณ์ในสวรรค์ แต่ยังตรวจไม่พบหลักฐานว่าได้มีประกาศเป็นทางการให้ใช้รูปพระไพศรพณ์เป็นเครื่องหมายราชการของอัยการตั้งแต่เมื่อใด

สัญลักษณ์ของอัยการ

ตามพระราชกฤษฎีกาเครื่องแบบข้าราชการอัยการและระเบียบการแต่งกายฯ พ.ศ. 2524 กำหนดเครื่องแบบข้าราชการอัยการซึ่งรวมถึงเครื่องหมายที่ประดับอินทรธนู จึงตรวจสอบดูปรากฏคำว่า "รูปพระไพศรพณ์" เป็นโลหะสีทองซึ่งกฎหมายนี้กำหนดวิธีการใช้ ดังนี้

  1. กรณีเครื่องแบบพิธีการ เช่น เครื่องแบบปกติขาว เครื่องแบบเต็มยศ ฯลฯ ให้ติดทับอยู่บนอินทรธนูค่อนมาทางด้านไหล่
  2. สำหรับเครื่องแบบสีกากีคอพับ กับเครื่องแบบสีกากีคอแบะ ให้ประดับทับอยู่บนพื้นอินทรธนูภายในขมวดวงกลม ฐานของรูปพระไพศรพณ์อยู่เหนือแถบต้น (กรณีอัยการชั้น 3 ขึ้นไป) หรืออยู่บนแถบที่สองของอินทรธนู (กรณีอัยการชั้น 1 และชั้น 2)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 ได้มีกฎหมายออกมากำหนดให้ข้าราชการอัยการใช้เครื่องหมายนี้มาประดับบนอินทรธนูเพื่อบ่งแสดงให้เห็นว่าข้าราชการอัยการแตกต่างจากข้าราชการพลเรือน และต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ก็ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้ใช้รูปท้าวกุเวร (หรือท้าวเวสสุวรรณ) เป็นเครื่องหมายราชการของกรมสารวัตรทหารบกซึ่งเป็นหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อยของฝ่ายทหาร

ส่วนพระไพศรพณ์ยังคงเป็นสัญญลักษณ์ประดับบ่าเสื้อเครื่องแบบอัยการทั้งสองข้างตลอดมา และในปี พ.ศ. 2535 สำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้รูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดินวางอยู่บนตราชั่งซึ่งเป็นเครื่องหมายของนักกฎหมาย ประกอบกับอีก 3 รูปรวมกันเป็นเครื่องหมายราชการของสำนักอัยการสูงสุด คือ พระแว่นสุริยกานต์ พระขรรค์ รองรับด้วยช่อชัยพฤกษ์

รูปตราใหม่นี้ถือเป็นเครื่องหมายราชการของหน่วยงานตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2535 ในวาระที่หน่วยงานของอัยการได้เปลี่ยนแปลงสถานะภาพจากหน่วยงานระดับกรมขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย มาเป็นสำนักงานไม่สังกัดกระทรวง ส่วนพนักงานอัยการในปัจจุบันรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆได้ขยายบทบาทออกไปมาก รวมทั้งกำหนดหน้าที่อัยการไปถึงเรื่องทางการเมืองเพราะอัยการมีหน้าทีต้องอำนวยความยุติธรรมทางการเมืองด้วยนั่นเอง