ประวัติ ของ ธงชาติศรีลังกา

เมื่อพระเจ้าวิชยะ กษัตริย์พระองค์แรกแห่งเกาะลังกาเสด็จมายังดินแดนแห่งนี้จากฝั่งอินเดียในปี พ.ศ. 57 พระองค์ได้ทรงนำเอาธงรูปราชสีห์มาใช้เป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ สัญลักษณ์รูปราชสีห์จึงเริ่มมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ศรีลังกานับแต่นั้นมา กษํตริย์ที่สืบทอดราชบัลลังก์ต่อมาจากพระเจ้าวิชยะต่างรับสืบทอดสัญลักณ์ราชสีห์ และสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ภายหลังได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพและความหวัง ตามตำนานในระยะต่อมากล่าวว่าเมื่อพระเจ้าทุฏฐคามณีทรงทำสงครามได้ชัยชนะจากพระเจ้าเอฬาระทมิฬซึ่งครอบครองส่วนหนึ่งของเกาะลังกาไว้นั้น พระองค์ทรงใช้ธงรูปราชสีห์ยืนถือดาบด้วยเท้าขวาหน้าและสัญลักษณ์รูปพระอาทิตย์และพระจันทร์

ธงรูปราชสีห์ได้ใช้มาจนถึงปี พ.ศ. 2358 จึงสิ้นสุดลงด้วยการที่พระเจ้าศรีวิกรมะราชสิงหะ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรแคนดี ลงพระนามในอนุสัญญาแคนดีเมื่อวันที่ 2 มีนาคมของปีนั้น โดยประกาศให้พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงมีฐานะเป็นกษัตริย์แห่งซีลอน ธงราชสีห์นั้นจึงถูกแทนที่ด้วยธงยูเนี่ยนแจ็คของสหราชอาณาจักรในฐานะธงชาติซีลอน ส่วนรัฐบาลบริติชซีลอนนั้นใช้ธงอีกอย่างหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ต่างหาก สำหรับธงราชสีห์เดิมนั้น ฝ่ายอังกฤษได้นำไปไว้ที่สหราชอาณาจักรและถูกเก็บรักษาไว้ที่รอแยลฮอลปิตอลเชลซี (Royal Hospital Chelsea) ในเมืองเชลซี กาลเวลาที่ผ่านไปหลายปีทำให้ชาวลังกาหลงลืมรูปแบบดั้งเดิมของธงนี้ไป

หลังจากนั้น ด้วยความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชที่เข้มแข็งขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อี.ดับเบิลยู. เปเรรา (E. W. Perera) ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการเรียกร้องเอกราชของศรีลังกา จึงได้ค้นพบธงราชสีห์ของเดิมซึ่งถูกเก็บไว้ที่อังกฤษอีกครั้ง ด้วยความช่วยเหลือของ ดี.อาร. วิเชนวาร์เดเน ภาพของธงดังกล่าวจึงได้ถูกนำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ "ดินามินา" ("Dinamina") ฉบับพิเศษ เพื่อระลึกถึงการครบรอบ 100 ปีแห่งการเสียเอกราชของศรีลังกา เนื่องจากตกเป็นอาณานิคม และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอื่น ๆ ธงราชสีห์ได้กลายเป็นจุดดึดดูดความสนใจของสาธารณชน ซึ่งได้เห็นธงนี้เป็นครั้งแรกหลังการล่มสลายของอาณาจักรแคนดี

ธงราชสีห์ได้รับการยอมรับเป็นธงชาติในฐานะธงชาติของรัฐอธิราชซีลอน เมื่อ พ.ศ. 2491 อย่างไรก็ตามต่อมาได้มีกานเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงอีกในปี พ.ศ. 2496 และ พ.ศ. 2515 โดยในการเปลี่ยนแปลงครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. 2515 นั้น ได้มีการเปลี่ยนเอารูปปลายหอกที่อยู่ตรงมุมธงทั้งสี่มุมเป็นรูปใบโพธิ์แทน[1] ตามคำแนะนำของนิสสันกา วิเชเยรัตเน (Nissanka Wijeyeratne) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการวัฒนธรรมและประธานคณะกรรมการพิจารณาแบบธงชาติและเครื่องหมายประจำชาติในเวลานั้น รูปใบโพธิ์ทั้งสี่ที่เพิ่มเข้ามานั้นมีความหมายถึงคุณธรรม 4 ข้อ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา[2] [3]

  • ธงบริติชซีลอน
    (พ.ศ. 2358 - 2491)
  • ธงชาติประเทศซีลอนในเครือจักรภพ
    (Dominion of Ceylon)
    (พ.ศ. 2491 - 2496)
  • ธงชาติประเทศซีลอนในเครือจักรภพ
    (Dominion of Ceylon)
    (พ.ศ. 2496 - 2515)
  • ธงชาติสาธารณรัฐ
    สังคมนิยมประชาธิปไตย
    ศรีลังกา
    (พ.ศ. 2515 - ปัจจุบัน)

แหล่งที่มา

WikiPedia: ธงชาติศรีลังกา http://www.lankalibrary.com/pro/flag.html http://www.lankalibrary.com/pro/flag2.htm http://flaggenlexikon.de/fsrilank.htm http://www.priu.gov.lk/Cons/1978Constitution/Sched... http://www.gov.lk/info/index.asp?mi=19&xp=52&xi=54... http://www.rivira.lk/2009/01/04/rivinetha2.htm http://www.thebottomline.lk/2009/02/04/INDE%20inde... https://fotw.info/flags/lk.html https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Nation...