ประวัติ ของ ธงชาติหมู่เกาะโซโลมอน

รัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักร

จักรวรรดิเยอรมนีและสหราชอาณาจักรตกลงในการแบ่งกลุ่มเกาะหมู่เกาะโซโลมอน ใน ค.ศ. 1886 โดยสหราชอาณาจักรได้อำนาจควบคุมส่วนใต้ พื้นที่ส่วนใต้นี้ต่อมาพัฒนาเป็นรัฐเอกราชหมู่เกาะโซโลมอน[1] 7 ปีต่อมาใน ค.ศ. 1893 สหราชอาณาจักรประกาศให้พื้นที่นี้เป็นดินแดนในอารักขา[2] ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เยอรมนียอมยกพื้นที่ส่วนเหนือให้อังกฤษ เพื่อแลกกับการที่อังกฤษยอมรับการอ้างสิทธิ์ของเยอรมนีเหนือเยอรมันซามัวและพื้นที่ในแอฟริกา[1] ในช่วงเวลานี้ ธงยูเนียนแจ็กและธงพื้นแดงปลิวไสวอยู่ทั่วหมู่เกาะโซโลมอน รวมไปถึงธงพื้นน้ำเงินที่ติดตราอาร์มที่มีชื่อดินแดนในอารักขาและมงกุฎทิวดอร์อีกด้วย[3]

มีการนำเสนอธงรูปแบบใหม่ของรัฐในอารักขาที่มีตราโล่พื้นสีแดงและเต่าทะเลสีดำ–ขาวใน ค.ศ. 1947 ในอีก 9 ปีต่อมามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธงอีกครั้ง เนื่องจากเต่าทะเลเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของจังหวัดกลางเท่านั้น ดังนั้นรูปแบบธง ค.ศ. 1956 จึงแบ่งพื้นที่โล่ออกเป็นสี่ส่วนประกอบด้วยรูปนกอินทรี รูปเต่า รูปนกโจรสลัดและสารพันอาวุธต่าง ๆ พร้อมทั้งมีตราสิงโตแห่งบริเตนอีกด้วย[3]

ธงชาติใหม่สำหรับประเทศใหม่

ช่วงก่อนที่จะได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1975 มีการประกวดการออกแบบธงสำหรับประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต[3][4] รูปแบบหนึ่งที่มีการนำเสนอมีตราประจำชาติหมู่เกาะโซโลมอนเป็นองค์ประกอบ[3] ขณะที่รูปแบบที่ชนะการประกวดมีพื้นสีน้ำเงินกับวงกลมสีเหลืองแวดล้อมด้วยโซ่และตรานกโจรสลัดสีดำ[4] อย่างไรก็ตามต่อมามีการยกเลิกรูปแบบนี้ เนื่องจากนกเป็นสัญลักษณ์แทนเพียงแค่ 1 จังหวัด ไม่ได้แทนภาพรวมทั้งประเทศ แบบธงที่ชนะเลิศเป็นแบบที่สองมีองค์ประกอบเป็นพื้นสีแดง โดยมีโซ่วงรีสีดำอยู่ตรงกลาง จากคำอธิบายของผู้ออกแบบ ธงนี้เป็นสัญลักษณ์โดยนัยกล่าวถึงการลักพาตัวชาวเกาะไปใช้แรงงาน (blackbirding) และการหลั่งเลือดจากผลที่ว่านั้น หลังจากที่ได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในชุมชนเกี่ยวกับแบบธงนี้ ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ใช้แบบธงนี้เช่นกัน[4]

ท้ายที่สุด รูแปบบธงสุดท้ายนี้คิดค้นขึ้นโดยชาวนิวซีแลนด์ที่สอนที่โรงเรียนคิงจอร์จที่ 6[4] ซึ่งตั้งอยู่ส่วนตะวันออกของกรุงโฮนีอารา[5] แม้ว่ารูปแบบธงที่จะได้รับเลือกควรเป็นรูปแบบธงที่ชาวหมู่เกาะโซโลมอนเป็นผู้ออกแบบ[4] ทว่าธงรูปแบบนี้ได้รับการอนุมัติให้เป็นธงใหม่ของประเทศหมู่เกาะโซโลมอนในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1977 ซึ่งเป็นระยะเวลา 8 เดือนก่อนที่จะกลายเป็นรัฐในอารักขาดินแดนสุดท้ายที่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร[3][6][7]

เอกราชและหลังจากนั้น

ธงยูเนียนแจ็กถูกเชิญลง พร้อมกับการเชิญธงชาติใหม่ขึ้นในพิธีวันเอกราชเมื่อ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1978 ที่กีโซ จังหวัดตะวันตก แม้พิธีการจะจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ก็ได้เกิดการโต้เถียงและการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านจากจังหวัดตะวันตกและจังหวัดมาไลตา [8] ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเหล่าผู้นำสภาตะวันตกไม่สามารถทำให้รัฐบาลสัญญาที่จะกระจายอำนาจให้กับจังหวัดมากขึ้น[8] และบางคนมองว่าพิธีธงนี้เป็นการแสดงความเหนือกว่าของมาไลตาเหนือจังหวัดตะวันตก[9]

ตั้งแต่ ค.ศ. 2012 ธงชาติหมู่เกาะโซโลมอนสามารถใช้เป็นธงแห่งความสะดวกสำหรับเรือวานิชต่างชาติที่อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐสภาของประเทศ[10] รัฐบาลคาดหวังที่จะดึงดูดเงินรายได้ภาษีประจำปีคิดเป็นเงิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็อ้างว่าการทำเช่นนี้เป็นการเปิดโอกาสการทำงานให้ชาวเรือท้องถิ่น และเพิ่มโอกาสการได้รับเงินตราต่างชาติ[10]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ธงชาติหมู่เกาะโซโลมอน http://www.news.com.au/travel/travel-ideas/best-of... http://www.abc.net.au/news/2014-05-19/solomons-in-... http://www.radioaustralia.net.au/international/200... http://search.proquest.com/openview/c7c2689352d7d2... http://www.solomontimes.com/news/the-solomon-islan... http://www.radionz.co.nz/international/pacific-new... //doi.org/10.1080%2F00358538408453628 https://books.google.ca/books?id=1yahq8im86kC&pg=P... https://books.google.ca/books?id=hBBhhpC9jv0C&pg=P... https://www.bbc.com/news/world-asia-15896396