ผลงานด้านการพัฒนาขลุ่ยไทยเทียบเสียงสากล ของ ธนิสร์_ศรีกลิ่นดี

อ.ธนิสร์แม้จะเป็นนักดนตรีสากล แต่มีความผูกพันกับดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็กๆ คุณปู่ คุณย่ามีวงดนตรีไทย คุณพ่อก็เป็นครูสอนดนตรีแตรวง พี่ชายก็เป็นนักดนตรี อาจารย์ธนิสร์ได้ครูดนตรีคนแรกชื่อ คุณครูทองดำ สิ่งที่สุข ที่สอนโน๊ตดนตรีสากลให้ ทำให้ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ได้หัดเล่นดนตรีตั้งแต่อายุสิบขวบและสนใจ ขลุ่ย โดยเกิดความประทับใจในทำนองท่อนที่สองของเพลงธรณีกรรแสง จึงได้ขอเงินยายทวดไปซื้อขลุ่ยมาฝึกเป่า และกลายเป็นเครื่องดนตรีประจำตัว

เป็นที่ทราบกันดีว่า อ.ธนิสร์ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกวงคาราบาวอย่างเต็มตัวในยุคคลาสสิคและเกิดแนวคิดนำขลุ่ยเข้ามาร่วมบรรเลงเพลงที่โด่งดัง เช่น เดือนเพ็ญ เมดอินไทยแลนด์ แต่ขลุ่ยกรวดหรือขลุ่ยเคียงออ ซึ่งเป็นขลุ่ยไทยแท้ๆ มีบันไดเสียงไม่เหมือนดนตรีสากล จึงนำมาปรับจูนโดยใช้เทปกาวมาปิดรูโน๊ตบางรู้ให้มีครึ่งเสียง พอใกล้เคียงกับบันไดเสียงสากล แต่เสียงโน๊ตขลุ่ยก็ยังไม่ตรงหรืออินจูนมากนัก จวบจนได้เดินทางไปหาครูอุทิศ อิ่มบุบผา ยังบางไส้ไก่หรือหมู่บ้านลาว ซึ่งเป็นแหล่งทำขลุ่ยที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย ให้ครูอุทิศประดิษฐ์ขลุ่ยไม้ไผ่ให้โดยมี อ.ธนิสร์ร่วมจูนเสียงและเป็นผู้ทดสอบ จนสำเร็จเป็นขลุ่ยไทยเสียงสากลเลาแรกของเมืองไทย ซึ่ง อ.ธนิสร์ตั้งชื่อว่า "ขลุ่ยไทยเทียบเสียงสากล" ได้นำไปใช้ในการทำอัลบัม ลมไผ่

หลังจาก อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี แยกตัวออกจากวงคาราบาว ได้ออกเดินบนถนนสายดนตรีด้วยตนเองอย่างเต็มตัวในฐานะศิลปินเดี่ยว ที่มีขลุ่ยเป็นชีวิตติดตามตัวมาด้วย จนได้พบกับ อ.โสภณ นุ่มละมุล เป็นอาจารย์สอนดนตรีไทยอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบและเป็นช่างทำขลุ่ย ได้ร่วมกันพัฒนาขลุ่ยไทยเทียบเสียงสากลโดยใช้ไม้กลึงแทนไม้รวก ที่มีชื่อเสียงคือทำขลุ่ยจากไม้พญางิ้วดำให้ อ.ธนิสร์ นำไปทำอัลบั้ม เพลงบรรเลงขลุ่ยชุด ความฝันอันสูงสุด ซึ่งเป็นการนำเพลงพระราชนิพนธ์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป่าด้วยขลุ่ยไทยครั้งแรกของเมืองไทย

จากนั้นได้เริ่มต้นพัฒนาขลุ่ยไทยเทียบเสียงสากลของตนเองอย่างจริงจัง โดยร่วมกับคุณเจตนา เถื่อนสว่าง และ คุณโสภณ ศรีมานพ ในชื่อว่า ขลุ่ย ธ หรือ ขลุ่ย อ.ธนิสร์ รุ่นที่ 1 ถึง รุ่นที่ 3 ซึ่งมีทั้งคีย์ ซี บีแฟลทและเพียงออ ด้วยปัญหาด้านสุขภาพของคุณโสภณ ศรีมานพ ไม่สามารถร่วมงานพัฒนาขลุ่ยต่อไปได้ ได้มีการชักชวน คุณสถาพร สรรค์โสภณ ที่มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมและเป็นเจ้าของธุรกิจโรงกลึงอยู่ที่หนองจอกเข้ามาร่วมทีมพัฒนาขลุ่ย จนได้มีการสร้างสรรค์งานขลุ่ย ธ. รุ่น 4 ที่มีการพัฒนาขลุ่ยเป็น 2 ท่อน แบ่งเป็นท่อนปากเป่าหรือ Mouthpiece และส่วนลำตัวหรือ Body เพื่อให้สามารถจูนเสียงในกรณีที่ต้องเป่าในอุณภูมิสูงหรือต่ำ เช่นเดียวกับแซกโซโฟนที่ใช้การขยับเมาส์พีชเพื่อจูน เนื่องจากอากาศที่เย็นหรือร้อนไปจะส่งผลให้เสียงขลุ่ยเพี้ยนต่ำหรือสูงได้ ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นขลุ่ย ธ.รุ่น 5 ที่มีการใช้วัสดุพิเศษทดแทนไม้ซึ่งเริ่มหายากและมีราคาสูง จุดเด่นคือ เสียงที่อินจูนมากขึ้น มีความเสถียร เป่าในที่อุณหภูมิแตกต่างได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ สีขาวสวยงามแปลกตา มีทั้งแบบ ท่อนเดียว และ 2 ท่อน อ.ธนิสร์นำไปใช้ในการทำงานเพลงตลอดจนเดินทางไปเล่นยังต่างประเทศทั่วโลก ตลอดจนสร้างสรรค์ผลงานเพลงในปี 2551 ในชื่ออัลบั้ม ขลุ่ยบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ ฯลฯ

จากการสร้างสรรค์ผลงานเพลงของตนเองมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดีและทีมงาน ทำการวิจัยและพัฒนาขลุ่ยไทยเทียบเสียงสากลเรื่อยมา ตั้งแต่การหาไม้มาทำขลุ่ย การเจาะรูไม้ การเทียบเสียง และการค้นคว้าต่างๆ ทำให้ขลุ่ยไทยสามารถเข้าไปร่วมเล่นกับเครื่องดนตรีสากลทั่วโลกได้ จากวันนั้นถึงวันนี้ การพัฒนาขลุ่ยไทยมีมาอย่างต่อเนื่องหลายรุ่น จนมาถึงได้ทำการพัฒนาขลุ่ยถึงขลุ่ย ธ.รุ่น 6 จากแนวคิดของ อ.ธนิสร์ สู่การออกแบบขลุ่ยอย่างลงตัวของคุณสถาพร เกิดเป็นขลุ่ยไทยเทียบเสียงสากล ชนิด LOW B อธิบายได้คือ สามารถเป่าเสียงต่ำลงได้หนึ่งเสียง ตลอดจนลูกเล่นต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้บทเพลงหลายบทเพลงในอดีต สามารถกลับมาเป่าได้ตรงตามโน๊ต ที่ผู้ประพันธ์ได้ประพันธ์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบทุกประการ ไม่ต้องหลบเสียงเหมือนในอดีต อาทิเช่น เพลงพม่าเห่ (เดือนเพ็ญ) [5]

ด้วยปณิธานของ อ.ธนิสร์ เสมอมาที่อยากให้เยาวชน คนไทยได้ใช้ขลุ่ยที่ดีมีคุณภาพ ราคาย่อมเยา จึงได้รับทุนวิจัยและพัฒนาจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(ในสมัยนั้น) พัฒนาขลุ่ยด้วยวัสดุวูดคอมโพสิตที่ให้คุณภาพเสียงได้ใกล้เคียงกับไม้ มีราคาถูก ปลอดภัย แต่วัสดุชนิดนี้เมื่อใช้งานไปนานพบปัญหาอยู่บางประการ จึงได้ยกเลิกและร่วมกับเอกชนทำการสรรค์หาและพัฒนาจนได้วัสดุชนิดใหม่เป็นวัสดุพลาสติกผสมชนิดพิเศษที่ให้เสียงดีสมบูรณ์ลงตัว และนำมาใช้ในการทำเป็นขลุ่ย อ.ธนิสร์ รุ่นล่าสุด(ขลุ่ยม่วง) ที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบัน