ธรรมศาสตรบัณฑิต
ธรรมศาสตรบัณฑิต

ธรรมศาสตรบัณฑิต

ธรรมศาสตรบัณฑิต เป็นชื่อหลักสูตรการศึกษา ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ซึ่งเปิดเป็นตลาดวิชา (ไม่มีการสอบเข้า) ผู้สำเร็จหลักสูตรนี้ จะได้รับปริญญาเรียกว่า ปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต (ธ.บ.) หลักสูตรนี้เปิดสอนระหว่าง พ.ศ. 2477 จนถึง พ.ศ. 2491 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย เป็น ธรรมศาสตร์ ในเวลาต่อมาเมื่อแรกก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 มีหลักสูตรที่เปิดสอน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต (ธ.บ.) กล่าวคือ เป็นซึ่งเน้นวิชากฎหมายเป็นหลัก และหลักสูตร วิชาการบัญชี การเรียนหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต ทำพิธีเปิดเมื่อเริ่มภาคการศึกษา วันที่ 27 มิถุนายน โดยมีระยะเวลาภาคการศึกษาที่ 1 ระหว่าง วันที่ 1 กรกฎาคม - 30 กันนายน และทำพิธีเปิดภาคการศึกษที่ 2 วันที่ 10 ธันวาคม มีระยะเวลาภาคการศึกษาที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม - 15 มีนาคม ทวี กสิยพงศ์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์และศิษย์เก่าของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า[1]ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบกับท่านผู้ประศาสน์การ ได้เรียนถามท่านถึงความคิดที่วางหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตขึ้นในสมัยนั้นว่าท่านมีความประสงค์อย่างไร ท่านผู้ประศาสน์การได้กรุณาชี้แจงให้ฟังว่าหลักสูตร ธ.บ. ที่วางไว้นั้น ได้คำนึงถึงการที่จะให้นักศึกษาที่สำเร็จไปมีโอกาสประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวง โดยมิให้จำกัดอยู่เพียงวิชาทางกฎหมาย แต่อย่างเดียวเพราะว่าอาชีพนี้มีจำกัดอยู่เฉพาะผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมายเท่านั้น ท่านต้องการให้จบปริญญา ธ.บ. สามารถเลือกอาชีพได้โดยกว้างโดยจะไปเป็นอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ เป็นนายตำรวจ สหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการคลัง การเศรษฐกิจ การทูต หรือจะรับราชการในกระทรวงได้เรียนระเบียบปฏิบัติราชการทุกกระทรวง รวมทั้งอยากจะไปทำการค้าก็ได้ เพราะเรียนรู้หลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ท่านบอกว่าท่านภูมิใจเหลือเกินที่ลูกศิษย์ลูกหาชาวธรรมศาสตร์ของท่านมีอยู่ในทุกสาขาอาชีพ แม้แต่ผู้ที่เรียนไม่จบปริญญา ก็ยังสามารถใช้ความรู้ทางวิชาดนตรีที่ร่ำเรียนเตรียมปริญญาเป็นหัวหน้าดนตรีได้ และการที่ท่านวางหลักสูตรให้นักศึกษาชั้นปริญญาตรีทุกคนได้วิชาเศรษฐศาสตร์ และลัทธิเศรษฐกิจด้วยนั้น ก็โดยมีเหตุผลว่ามนุษยชาติที่อยู่ร่วมกันในสังคมนั้นต้องมีเศรษฐกิจเป็นรากฐานนักกฎหมายต้องรู้หลักเศรษฐกิจด้วย เพื่อจะได้รู้ถึงพื้นฐานของสังคม กฎหมายที่ออกมาก็ต้องคำนึงถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสังคม เพราะฉะนั้นท่านจึงเห็นว่านักกฎหมายจะต้องเรียนรู้หลักเศรษฐศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย