เนื้อหา ของ ธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา

โดยเหตุที่พระอภิธรรมปิฎก มีเนื้อหาเป็นข้อธรรมล้วน ๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคล จึงมีความยากที่จะทำความเข้าใจ พระอรรถกถาจารย์จึงต้องมีการขยายความเนื้อหาในปกรณ์ หรือพระอภิธรรมปิฎกเล่มต่าง ๆ ด้วยการเสริมเนื้อเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อธรรมนั้นๆ พร้อมทั้งมีการอธิบายคำศัพท์ที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงความลึกซึ้งของพระอภิธรรมปิฎกได้มากขึ้น

ในธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา พระพุทธโฆสะให้คำอธิบายที่ไม่ยืดยาวนัก เนื่องจากในธาตุกถาปกรณ์มีการอธิบายลักษณะธรรมต่าง ๆ อย่างกระชับเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยท่านผู้รจนาจะใช้วิธีสรุปความจากเนื้อหาในปกรณ์ให้มีความรวบรัดยิ่งขึ้น ด้วยถ้อยความที่ง่ายต่อการเข้าใจยิ่งขึ้น เช่นในสังคหิเตนอสังคหิตปทนิทเทส มีการยกหัวข้อย่อยของนิทเทสมาอธิบายพอให้เกิดความเข้าใจ

เช่น อรรถกถาสัจจนิทเทส ท่านผู้รจนาได้ชี้แจงจุดที่น่าจะก่อให้เกิดความกังขาไว้เป็นข้อความสั้น ๆ เกี่ยวเนื่องกับเหตุที่มีการลำดับของมัคคสัจ[5] หรือในอรรถกถาอินทริยนิทเทส ท่านผู้รจนาได้อธิบายโดยวิธีการรวบยอดว่า "รูปชีวิตินทรีย์นับสงเคราะห์ได้ด้วยรูปขันธ์ อรูปชีวิตินทรีย์นับสงเคราะห์ได้ด้วยสังขารขันธ์" และอินทรีย์ที่เหลือก็มีการกำหนดในลักษณะเดียวกัน เป็นต้น[6]

อย่างไรก็ตาม บางอรรถาธิบายก็มีเนื้อหายาวกว่าเนื้อความในปกรณ์ เช่นอรรถกถาปฏิจจสมุปปาทนิทเทส ในอรรถกถาสังคหาสังคหปทนิทเทส โดยในนิทเทสนี้ ท่านผู้รจนาได้ทำการอธิบายทั้งมูลเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมิได้มีพระดำรัสดังนั้น และเหตุใดพระองค์จะจึงมีพระดำรัสดังนั้น เช่นเหตุใดจึงทรงตรัสว่า " เอกาทสหายตเนหิ สตฺตรสหิ ธาตูหิ" นอกจากนี้ ยังมีการขยายความข้อความสำคัญเช่น "ทฺวีหิ อายตเนหิ" หมายความว่า "อายตนะ 2 คือ รูปายตนะและธัมมายตนะ" เป็นต้น[7]