ข้อเท็จจริง ของ ธาตุก่องข้าวน้อย

ปัจจุบันได้มีการค้นพบธาตุเก่าแก่ที่วัดทุ่งสะเดา บ้านสะเดา ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร ซึ่งกรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่า ธาตุดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับนิทานพื้นบ้านเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ที่เล่ากันในพื้นถิ่นอีสานว่าลูกชายคนหนึ่งได้ฆ่าแม่ของตน เพราะความหิวและความโกรธที่แม่นำข้าวมาส่งช้าและน้อยเกินไป แต่เมื่อความหิวและความโกรธคลายลง ประกอบกับข้าวที่แม่นำมาส่งที่ตนคิดว่ามีปริมาณน้อยนั้น ยังเหลืออยู่จึงเกิดความรู้สึกผิดที่ได้กระทำบาปกับแม่ จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นในบริเวณที่แม่เสียชีวิตเพื่อเป็นการไถ่โทษ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า ธาตุลูกฆ่าแม่ ตั้งอยู่ภายในวัดทุ่งสะเดา นิทานพื้นบ้านที่มีเนื้อหาในลักษณะเช่นนี้ ยังถูกใช้เล่าประกอบประวัติพระธาตุตาดทองที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ธาตุก่องข้าวน้อย

โบราณสถานสำคัญภายในวัดทุ่งสะเดา ประกอบด้วยเจดีย์ก่ออิฐถือปูน จำนวน 2 องค์ ตั้งอยู่ใกล้กัน องค์แรกมีสภาพสมบูรณ์ องค์ที่สองเหลือเพียงส่วนฐาน จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบฐานแท่นบูชาของเจดีย์องค์ที่สองยื่นเข้าไปใต้ฐานเจดีย์องค์แรก อันเป็นหลักฐานว่า เจดีย์องค์ที่เหลือเพียงฐานนั้น ได้สร้างขึ้นมาก่อน ภายหลังพังทลายไปจึงมีการสร้างเจดีย์องค์ที่สองทับลงไปบนส่วนฐานของเจดีย์ นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2525 ชาวบ้านยังได้ขุดพบโบราณวัตถุในไหจำนวน 4 ไหใต้ฐานเจดีย์องค์แรก เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลัก พระพุทธรูปบุเงิน พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปตะกั่ว พระพุทธรูปดินเผาสีแดงชาดปิดทอง พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพิมพ์ เศษกระดูก กล้องยาสูบ และเครื่องถ้วยจีน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดทุ่งสะเดา

ลักษณะสถาปัตยกรรมของเจดีย์ที่มีสภาพสมบูรณ์นั้น เป็นทรงบัวเหลี่ยมในผังแปดเหลี่ยม ตามแบบศิลปะพื้นถิ่นอีสาน กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 23 มีส่วนฐานเป็นชั้นหน้ากระดานขนาดเล็กเรียงลดหลั่นกัน รับฐานบัว และมีชั้นคล้ายบัวหงายขนาดใหญ่ ถัดขึ้นมาเป็นบัวแปดเหลี่ยมรับปลียอดและฉัตร อันเป็นลักษณะเจดีย์ที่นิยมสร้างในเมืองหลวงพระบางและเวียงจันทน์ด้วยเช่นเดียวกัน

เอกลักษณ์ของเจดีย์วัดทุ่งสะเดาหรือธาตุลูกฆ่าแม่ คือ การผูกนิทานพื้นบ้านให้เข้ากับประวัติความเป็นมาของเจดีย์ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระธาตุก่องข้าวน้อย วัดทุ่งสะเดา ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 กันยายน 2479 โดยเจดีย์องค์ที่มีสภาพสมบูรณ์(องค์ลูก)ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2555 ส่วนเจดีย์องค์ที่เหลือเพียงส่วนฐาน(องค์แม่)ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2537 ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย

ดังนั้นจึงสันนิษฐานใหม่ว่า ธาตุวัดทุ่งสะเดา น่าจะเป็นธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ตามตำนานเล่าขาน เพราะมีขนาดเล็ก คนๆ เดียวสามารถสร้างได้ ส่วนธาตุก่องข้าวน้อย หรือ พระธาตุตาดทอง บ้านตาดทอง มีขนาดใหญ่พอๆ กับพระธาตุอานนท์ วัดมหาธาตุ ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะตัว บุคคลคนเดียวไม่มีความรู้เรื่องช่างไม่สามารถทำได้ จึงสมควรเรียกขานธาตุก่องข้าวน้อยที่บ้านตาดทองเสียใหม่ว่า พระธาตุตาดทอง หรือ พระธาตุถาดทอง[4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ธาตุก่องข้าวน้อย http://maps.google.com/maps?ll=15.763515,104.20703... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=15.7635... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=15.763515&long=104.... http://thai.tourismthailand.org/%E0%B8%AA%E0%B8%96... http://www.wikimapia.org/maps?ll=15.763515,104.207... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.qrcode.finearts.go.th/index.php/th/hist... http://www.qrcode.finearts.go.th/index.php/th/hist...