ที่มาและเนื้อหา ของ ธิราชเจ้าจอมสยาม

ธิราชเจ้าจอมสยาม เป็นละครโทรทัศน์กึ่งสารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เนื่องในวโรกาสครบรอบ 100 ปีการสวรรคต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553 โดยได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นับเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเรื่องที่สามนับจาก สารคดีชุด 100 ปี ไกลบ้าน ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในปี พ.ศ. 2551 และ เสด็จประพาสต้น ในปี พ.ศ. 2552

โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับแง่มุมต่าง ๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงบั้นปลายพระชนม์ชีพ ซึ่งถึงสะท้อนพระราชกุศโลบายที่ชาญฉลาด สมกับที่พระองค์ท่านได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระปิยมหาราช"

ในส่วนของการสร้าง มี บริษัท โกลบอล อินเตอร์คอมมิวนิเคชัน จำกัด ซึ่งเคยสร้างสารคดีชุด 100 ปี ไกลบ้าน ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง และ เสด็จประพาสต้น มาแล้ว เป็นผู้อำนวยการผลิต ในส่วนของการแสดง มี บริษัท กำลังดี ซอย 6 โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งเคยมีผลงานมาแล้วจากละครโทรทัศน์ชุด เรื่องเล่า 9 แผ่นดิน เป็นผู้ผลิต ซึ่งในส่วนของบทละครนั้นได้ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ทมยันตี นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของประเทศเป็นที่ปรึกษา และยังมี ผศ.ดร.วงเดือน นาราสัจจ์, ผศ.ชมพูนุท นาคีรักษ์ และ สุวรรณา สัจจวีรวรรณ นักประวัติศาสตร์ไทย เป็นผู้ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูล โดยมี พลตรี ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี เป็นผู้ตรวจทานความถูกต้องด้านประวัติศาสตร์อีกชั้นหนึ่ง โดยผู้แสดงนั้นล้วนแต่เป็นนักแสดงหน้าใหม่ทั้งสิ้น [1] ในส่วนของเสียงบรรยาย มีคุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้ให้เสียงพากย์พระสุรเสียงของสมเด็จพระปิยมหาราช

ในส่วนของสัญลักษณ์รายการ ทางธนาคารกสิกรไทย ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปทำการออกแบบ โดยปิดรับผลงานวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553 และประกาศผลการออกแบบในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553 โดยตัดสินจากแนวคิดและเนื้อหาสาระในสารคดี แสดงให้เห็นความเป็น "ธิราชเจ้าจอมสยาม" แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้มีเอกลักษณ์โดดเด่น ไม่ล้าสมัยง่าย ใช้ได้หลายโอกาส สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสื่อได้หลากหลายประเภท อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์, ภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น[2] โดยสัญลักษณ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและนำออกอากาศ ออกแบบโดย คุณบำรุง อิศรกุล[3]