ลักษณะ ของ นกกะปูดใหญ่

นกกะปูดใหญ่เป็นนกขนาดใหญ่ในวงศ์นกคัดคู ยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 48-52 ซม. ลำตัวค่อนข้างยาว ปากหนาและสันปากบนโค้งลงตอนปลาย ตอนปลายสุดงุ้มลงคลุมปลายปากล่าง ขนบริเวณหัว ลำคอ และอกค่อนข้างน้อยและเส้นขนค่อนข้างแข็ง ปีกค่อนข้างสั้นและมนกลม ขนปลายปีกมี 9 เส้น หางค่อนข้างยาวและปลายหางมน ขนหางมี 8 เส้น ขนหางแต่ละคู่ยาวลดหลั่นกันลงไปและสามารถแผ่ออกได้เหมือนพัด ขาค่อนข้างยาว หนาและแข็งแรง นิ้วเท้ามีข้างละ 4 นิ้ว นิ้วหลังมีเล็บยาวค่อนข้างตรง[3]

สองเพศมีสีสันเหมือนกัน แต่นกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่านกตัวผู้เล็กน้อย[4] ปากสีดำ ม่านตาสีแดง หัว คอ และหลังตอนบนสีดำเหลือบเขียวเล็กน้อย แต่หลังตอนบนเหลือบสีน้ำตาลและม่วงด้วย ก้านขนบริเวณหัว คอ และอกสีดำเป็นมัน หลังตอนล่างและปีกสีน้ำตาลแกมแดง แต่ขนปลายปีกสีดำคล้ำๆ หางสีดำเหลือบเขียวหม่น ขนคลุมใต้ปีกสีดำ ขาและนิ้วเท้าสีดำ

นกวัยอ่อนมีชุดขนสีดำคล้ำมีจุดบนกระหม่อมและมีแถบสีขาวบนส่วนล่างและหาง

ชนิดย่อยและการกระจายพันธุ์

เล็บหลังที่ตรงยาวอันเป็นลักษณะของสกุล

ชนิดย่อยที่ได้รับการตั้งชื่อตามชนิดพบในหุบเขาอินดัส (Indus Valley) ผ่านเขตย่อยหิมาลายัน (sub-Himalayan) และที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา (Gangetic plains) ไปจนถึงประเทศเนปาล รัฐอัสสัม และตีนเขาในประเทศภูฏาน และตอนใต้ของจีน (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง, มณฑลเจ้อเจียง, มณฑลฝูเจี้ยน)[5]

  • ชนิดย่อย parroti Stresemann, 1913 พบในคาบสมุทรอินเดีย (รัฐมหาราษฏระ, รัฐมัธยประเทศ, รัฐโอริศา และทางใต้) มีหลังสีดำ นกวัยอ่อนไม่มีขีดที่ปีก[5]
  • ชนิดย่อย intermedius Hume, 1873 มีขนาดเล็กที่สุดพบในประเทศบังคลาเทศ ทางตะวันตกของคาชาร์ (Cachar) ในพม่า และหุบเขาชิน (Chin Hills) ในจีน (มณฑลยูนนาน, มณฑลไหหลำ), ไทย, อินโดจีน และตอนเหนือบางส่วนของคาบสมุทรมลายู[5]
  • ชนิดย่อย bubutus Horsfield, 1821 พบในตอนใต้บางส่วนของคาบสมุทรมลายู, หมู่เกาะสุมาตรา, ไนแอส, หมู่เกาะเมนตาวี, ชวา, บาหลี, บอร์เนียว, ภาคตะวันตกฟิลิปปินส์ (บาลาแบก (Balabac), คากายัน (Cagayan), ซูลู และปาลาวัน) ชนิดย่อยนี้มีปีกสีแดงซีด[5]
  • ชนิดย่อย anonymus Stresemann, 1913 พบในตะวันตกเฉียงใต้ของฟิลิปปินส์ (บาซิลัน, เกาะซูลู) และปีกสั้นและสีเข้มกว่า bubutus[5]
  • ชนิดย่อย kangeangensis Vorderman, 1893 พบในเกาะแกงจีน (Kangean Islands) มีชุดขนซีดสลับเข้ม[5]