ในประเทศไทยและการอพยพย้ายถิ่น ของ นกล่าเหยื่อ

ในประเทศไทย มีนกล่าเหยื่อทั้งหมดจำนวน 55 ชนิด มากกว่า 32 ชนิดเป็นนกอพยพย้ายถิ่นในฤดูหนาว หรือ นกอพยพจากแถบประเทศทางซีกโลกเหนือ เช่น มองโกเลีย, จีน, ธิเบต, ไซบีเรีย, เกาหลี, ญี่ปุ่น ผ่านประเทศไทยไปประเทศอื่นในคาบสมุทรมลายู เพื่อหลบหนีความหนาวไปทางซีกโลกทางใต้ที่อากาศอบอุ่นกว่าและอาหารการกินอุดมสมบูรณ์กว่า โดยสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการบินของนกล่าเหยื่ออพยพ คือ มวลอากาศร้อนและกระแสลม มวลอากาศร้อนเป็นสิ่งสำคัญต่อการบินอพยพของนก เพื่อลดการสูญเสียพลังงานในระหว่างการบินอพยพเมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงส่งความร้อนมายังพื้นผิวโลก มีการดูดซับพลังงานความร้อนไว้แล้วค่อย ๆ ลอยตัวสูงขึ้นรวมตัวกันจนมีความหนาแน่นมาก เรียกว่า มวลอากาศ ซึ่งอาจเกิดในที่โล่งหรือแนวเทือกเขาก็ได้ เมื่อมีกระแสลมพัดเอามวลอากาศร้อนที่อยู่ตามทุ่งไปปะทะกับภูเขาซึ่งเปรียบเสมือนกำแพงกั้น ทำให้มวลอากาศร้อนรวมกันเป็นก้อนใหญ่ลอยสูงขึ้นสู่ฟ้า นกล่าเหยื่อที่บินอพยพจะมองเห็นและใช้มวลอากาศร้อนพยุงตัวไปข้างหน้า ซึ่งในแต่ละวันเมื่อถึงเวลาเย็นนกล่าเหยื่อจะหาที่พักผ่อนในเวลากลางคืน เพื่อเตรียมอพยพในวันรุ่งขึ้น เป็นอย่างนี้ทุกวันจนกว่าจะถึงเป้าหมายที่จะอาศัยอยู่ตลอดช่วงฤดูหนาว บริเวณประเทศแถบใกล้เส้นศูนย์สูตรในประเทศไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นประเทศหลัก โดยเมื่อเวลาผ่านไปถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป นกล่าเหยื่อเหล่านี้จะบินอพยพกลับไปถิ่นฐานเดิมเพื่อรังวางไข่อีกครั้ง[4]