นกอ้ายงั่ว
นกอ้ายงั่ว

นกอ้ายงั่ว

นกอ้ายงั่ว หรือ นกคองู[5] (อังกฤษ: Oriental darter; Snakebird; ชื่อวิทยาศาสตร์: Anhinga melanogaster) เป็นนกน้ำชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์นกอ้ายงั่ว (Anhingidae) ในอันดับนกกระทุง (Pelecaniformes) (แต่บางข้อมูลจัดให้อยู่ในอันดับ Suliformes[2]) ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียวเท่านั้น[6]ขนาดลำตัวยาวประมาณ 90-95 เซนติเมตร ปากตรง ปลายปากแหลม หัวเล็กคอยาวมาก ปีกยาว ปลายปีกค่อนข้างมน ขนปลายปีกเส้นที่ 2 และ 3 นับจากด้านนอกยาวที่สุด หางยาวแข็ง ปลายหางเป็นหางพลั่ว มีขนหาง 12 เส้น ขาค่อนข้างสั้นแต่ใหญ่ มีพังผืดนิ้วเป็นแบบตีนพัดเติม ทั้งสองเพศมีลักษณะและสีเหมือนกัน ตัวเต็มวัยหัวและคอสีน้ำตาล มีลายสีขาวคาดจากคางจนถึงข้างคอ ลำตัวสีดำ ช่วงไหล่ คอด้านบน และลำตัวด้านบนมีลายขีดสีเทาแกมสีเงิน ตัวไม่เต็มวัยสีจางกว่าตัวเต็มวัย หัวและคอสีขาว ลำตัวสีน้ำตาล มีลักษณะเด่น คือ มีลำคอยาวเรียวดูคล้ายงู จนได้อีกชื่อหนึ่งว่า "นกคองู" เพราะขณะว่ายน้ำ ลำตัวทั้งหมดจะจมลงใต้น้ำ ชูเฉพาะคอและหัวขึ้นเหนือน้ำ ดูคล้ายกับงูที่อยู่ในน้ำมากอยู่เป็นกลุ่มตามแหล่งน้ำ เช่น บึง, อ่างเก็บน้ำ, เขื่อน หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และอาจอยู่รวมกับนกและสัตว์ชนิดอื่น ว่ายน้ำและดำน้ำได้ดีมาก นอกจากนี้ยังบินได้ดี และชอบเกาะตามกิ่งไม้แห้งใกล้กับแหล่งน้ำหากินหรือบริเวณแหล่งอาศัย เพื่อผึ่งแดดหรือไซ้ขนหลังจากว่ายน้ำและดำน้ำหาอาหาร อาหารได้แก่ปลาชนิดต่าง ๆ ที่ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป โดยใช้ปากแทงทะลุตัวปลา จากนั้นจะชูหัวและลำคอขึ้นเหนือน้ำ โยนปลาขึ้นไปในอากาศพร้อมกับอ้าปากรับ แล้วกลืนเข้าไปทั้งตัว แต่ถ้าปลาตัวใหญ่เกินไปก็อาจจะนำขึ้นมากินบนกิ่งไม้ นกอ้ายงั่วผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝนหรือระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ทำรังรวมกันเป็นกลุ่มตามต้นไม้สูง (ไม่ต่ำกว่า 20 เมตร) รังเป็นแบบง่าย ๆ ใช้กิ่งไม้มาวางซ้อนกันตามง่ามไม้ขนาดใหญ่ รังมีไข่ 3-5 ฟอง ทั้งสองคู่ผลัดกันฟักไข่ เนื่องจากนกอ้ายงั่ววางไข่ครั้งละไม่กี่ฟอง จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกศัตรูของนกอ้ายงั่ว เช่น งู, หนู และนกล่าเหยื่อ ชนิดต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง รวมทั้งการรบกวนของมนุษย์ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างยิ่งต่อการสูญพันธุ์นกอ้ายงั่ว จัดเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ดีอย่างหนึ่ง เพราะอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งปริมาณของอาหาร และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จัดเป็นนกประถิ่นในประเทศไทย แต่อยู่ในภาวะถูกคุกคาม ในประเทศจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ปัจจุบันพบเพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดสระแก้วในภาคตะวันออก[7]