แนวทาง ของ นครแม่สอด

โดยมีแนวทางการดำเนินการโครงการเป็นหลายแนวทาง เช่น ยกฐานะเทศบาลเมืองแม่สอด เป็นเทศบาลนครแม่สอดแล้วจัดตั้งเป็นเขตการปกครองในรูปแบบใหม่ที่ศึกษาลักษณะการบริหาร การจัดการ และการปกครองจาก กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการขยายตัวของอำเภอแม่สอด เป็นจังหวัดแม่สอด ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนฝั่งตะวันตกของจังหวัดตาก ประกอบด้วย อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง และโครงการจัดตั้ง 3 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอรวมราษฎร์คีรี แยกจากอำเภอพบพระ กิ่งอำเภอพะวอ-ด่านแม่ละเมา แยกจากอำเภอแม่สอด และกิ่งอำเภอมงคลคีรีเขตร์ แยกจากอำเภอท่าสองยาง

ปัจจุบันมีคณะอนุกรรมการพัฒนารูปแบบให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หาแนวทางเพื่อผลักดัน การยกระดับฐานะท้องถิ่นที่มีความพร้อมเพื่อเป็นเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในเมืองหลักที่สำคัญ โดยพิจารณา 5 ส่วนประกอบสำคัญในการคัดเลือก ซึ่งประกอบไปด้วย อันดับแรก คือ เมืองที่มีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจและมีการพัฒนาในระดับมหานคร เช่น เมืองใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา เป็นต้น และเมืองที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว อาทิเช่น เกาะสมุย หัวหิน รวมทั้งเมืองชายแดน เช่น แม่สอด อรัญ ตลอดจนเมืองอุตสาหกรรม เช่น มาบตาพุด และสุดท้ายเมืองด้านประวัติศาสตร์ อย่างเช่น อยุธยา และสุโขทัย เป็นต้น [1]

ซึ่งเมืองแม่สอดถือได้ว่าเป็นเมืองที่เข้าข่ายในหลักการว่าด้วยเมืองชายแดนสำคัญด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เมืองแม่สอดได้มีตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนทุกๆด้านของการเป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควบคู่เขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 ลักษณะ คือ การศึกษาด้านเมืองเศรษฐกิจชายแดน และท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพื่อใช้เมืองแม่สอดเป็นเมืองนำร่องนั้น มีนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานคณะทำงาน ส่วนเมืองอุตสาหกรรม ให้นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นประธานคณะทำงาน สำหรับเมืองด้านท่องเที่ยวนั้น ให้องค์ประกอบทุกภาคส่วน ศึกษาข้อกฎหมาย อีกทั้งให้คณะสภาพัฒน์ฯ เป็นเลขานุการ คณะทำงานเพื่อติดตามและประเมินผลทุก 2 สัปดาห์[1]