พระประวัติ ของ นักองค์อี

พระชนม์ชีพช่วงต้น

นักองค์อี ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2310 เป็นพระราชธิดาในพระนารายน์ราชารามาธิบดี หรือนักองค์ตน ประสูติแต่นักนางแป้น หรือแม้น น้องสาวออกญาบวรนายก (ซู)[2] นักองค์อีมีพระเชษฐภคินีพระองค์หนึ่งคือ นักองค์เม็ญ (หรือเมน) ประสูติแต่สมเด็จพระภัควดี พระเอกกระษัตรี (พระนามเดิม นักนางบุบผาวดี) ส่วนพระขนิษฐภคินีคือ นักองค์เภา ประสูติแต่สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา (พระนามเดิม นักนางอี)[3] และพระอนุชาคือ นักองค์เอง ประสูติแต่นักนางไชย[4]

หลังพระนารายน์ราชาธิบดีสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2320 เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) และออกญากระลาโหม (โสร์) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กรุงกัมพูชา ประกาศถวายพระนามแก่พระราชธิดาของพระเจ้าอยู่ในพระบรมโกศสองพระองค์ คือ นักองค์เม็ญ พระพี่นางพระองค์ใหญ่ ถวายพระนามเป็นสมเด็จพระมหากระษัตรี และนักองค์อี พระพี่นางพระองค์รอง ถวายพระนามเป็นสมเด็จพระศรีวรวงษ์ราชธิดา บรมบพิตร ใน พ.ศ. 2323[5]

ลี้ภัยสู่กรุงสยาม

ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ระบุว่า พ.ศ. 2325 พระยายมราช (แบน) และพระยากลาโหม (ปก) พาเจ้านายเขมรและเขมรเข้ารีตประมาณ 500 คน เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้านายเขมรที่เสด็จลี้ภัยในคราวนั้น ได้แก่ นักองค์อี นักองค์เภา และนักองค์เอง ไปประทับอยู่วังเจ้าเขมรที่ตำบลคอกกระบือ[1] แต่นักองค์เม็ญป่วย ถึงแก่พิราลัยเสีย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกราบทูลขอนักองค์อีและนักองค์เภาไปเป็นพระสนมเอกในวังหน้าสองพระองค์ ส่วนนักองค์เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงชุบเลี้ยงเป็นพระราชโอรสบุญธรรม[6] สอดคล้องกับ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงรับนักองค์เม็ญ นักองค์อี และนักองค์เภาไปเลี้ยงเป็นพระอรรคชายาเมื่อ พ.ศ. 2325[7] แต่ในเอกสารไทยว่านักองค์เม็ญสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนในกรุงเทพมหานคร คงเหลือเพียงนักองค์อีและนักองค์เภาที่รับไปเลี้ยงเป็นพระสนมเอกในกรุงสยาม[8] ส่วนนักนางแม้นที่เข้ามาในกรุงเทพมหานครด้วยกันนั้นก็ได้บวชเป็นชีที่วัดหลวงชี (ต่อมาคือ วัดบวรสถานสุทธาวาส)[9]

นักองค์อีมีพระประสูติการพระธิดาสองพระองค์คือ

  1. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากำพุชฉัตร หรือกัมโพชฉัตร (พ.ศ. 2329 – ไม่ทราบปีสิ้นพระชนม์)
  2. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงศ์มาลา หรือวงศ์กษัตริย์ (พ.ศ. 2336 – ไม่ทราบปีสิ้นพระชนม์)

ต่อมาเกิดวิกฤตการณ์วังหลวงกับวังหน้า ที่ไพร่พลเขมรลากปืนขึ้นป้อมวังหลวงจนเกิดความกินแหนงกันจนเกือบเกิดสงครามกัน สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงส่งให้นักองค์อีที่เป็นเจ้านายเขมรเข้าไปสืบความจริง จึงพบว่าเป็นการลากปืนเพื่อใช้ในพระราชพิธีตรุษเท่านั้น[10] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงกริ้ววังหน้า จึงมีรับสั่งให้ชำระความ "คหบดีกรุงธิปัต" คือพระยาเขมรคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นขุนนางของพระอัยกานักองค์อี แต่ปรากฏว่าขุนนางคนนี้กล่าวปด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงสั่งจองจำนักองค์อีและบ่าวไพร่ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความผิด แต่ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงให้สืบความใหม่ ด้วยการไต่สวนหม่อมวันทา นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท จึงทรงทราบความจริงหลังจากนั้น จึงสั่งให้นักองค์อีและบ่าวไพร่พ้นผิดและพระราชทานเบี้ยหวัดให้[11]

ครั้น พ.ศ. 2350 สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี ตรัสใช้พระองค์แก้ว (ด้วง) และออกญาจักรี (แกบ) นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่กรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับสมเด็จพระปิตุจฉาคือนักองค์อีและนักองค์เภาที่ประทับอยู่กรุงสยามกลับคืนกรุงกัมพูชา เอกสารไทยระบุว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไม่โปรดพระราชทาน เพราะ "มีพระองค์เจ้าอยู่ จะให้ออกไปมิได้มารดากับบุตรจะพลัดกัน"[1][12][13] ขณะที่เอกสารเขมรระบุว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าพระราชทานให้ นักองค์เม็ญ นักองค์เภา และพระภัควดีพระเอกกระษัตรีกลับคืนเมืองเขมร เว้นแต่นักองค์อีที่คงให้อยู่กรุงเทพมหานครทั้งมารดาและพระราชบุตร[14]