ประวัติ ของ นาคหลวง

การอุปสมบทในพระพุทธศาสนาเพื่อศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อภาวะบ้านเมืองสงบเรียบร้อยขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ผนวช ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี พ.ศ. 2331 นับว่าเป็น "นาคหลวงองค์แรก" ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "การโสกันต์แต่ก่อน" ว่า

...พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งนั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระชนมายุครบ ๒๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระราชศรัทธา จะให้ผนวชถวายพระราชกุศล...ครั้งนั้นสมเด็จพระวงศ์เธอ ซึ่งเวลานั้นเรียกกันว่า พระเจ้าหลานเธอ ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้า กรมหลวงนรินทรนเรศร์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์ใหญ่ กรมพระยาเทพสุดาวดี พระองค์หนึ่ง และเจ้าฟ้า กรมหลวงเทพหริรักษ์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์น้อยกรมพระศรีสุดารักษ์พระองค์หนึ่ง สองพระองค์นี้ทรงเจริญพระพรรษา อายุ ๓๐ ปีเศษแล้ว ยังหาได้ผนวชเป็นภิกษุไม่...การมีโอกาสก็มีศรัทธากราบถวายบังคมทูลขอผนวชด้วย....พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงโปรดฯให้ผนวชพร้อมกันเป็น ๓ พระองค์

การผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า วัดพระศรีสรรพเพชญดาราม ครั้งนั้นเป็นปฐมก่อนกว่าคนทั้งปวง ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่และเจ้าพนักงานก็ปรึกษาหาระบอบแบบแผนโบราณ ก็จัดการไปให้สมควรแก่ธรรมเนียมอย่างโบราณ ทั้งเวลาสมโภชและผนวชครั้งนั้น พร้อมกันเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม ทรงศักดินา ๔๐,๐๐๐ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เป็นต่างกรม ทรงศักดินาเพียง ๑๕,๐๐๐ แม้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ มีพระชนมายุอ่อนกว่า ก็ไม่ควรให้อยู่เบื้องหลัง ควรยกเป็นนาคเอกออกหน้า จึงจะต้องเยี่ยงอย่างซึ่งมีมาแต่โบราณ จึงให้พร้อมกันจัดการ

ดังนั้น เมื่อเวลาสมโภชก็สงบกันอยู่ ครั้นเมื่อเวลาผนวช เจ้าพนักงานเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเข้าไปขอบรรพชาก่อน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์ใหญ่ พระทัยมีทิฐิมานะมาก พระวาจาก็มักจะร้ายแรง เสด็จอยู่ในพระฉากใกล้ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเสด็จประทับอยู่ เมื่อทอดพระเนตรออกมานอกฉากเห็นดังนั้น ก็ทรงขัดเคืองบ่นด้วยพระวาจาต่างๆเกินๆไปตามพระนิสัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ทรงสดับ ก็ทรงรำคาญพระราชหฤทัย จึงมีพระราชโองการตรัสซักถามเสนาบดีและเจ้าพนักงานไปว่า ‘...เหตุไฉนจึงมาจัดผู้น้องให้มาออกหน้าผู้พี่ดังนี้เล่า...’

เสนาบดีผู้ใหญ่กราบทูลว่า ‘...อย่างธรรมเนียมโบราณที่เคยประพฤติอย่างนี้ ซึ่งจะให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอผนวชก่อนพระเจ้าลูกเธอนั้นเยี่ยงอย่างไม่มี...’ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงฟังดังนั้น ก็ยิ่งทรงขัดเคืองทรงบ่นต่างๆมากไปอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯได้ทรงสดับ ก็ทรงพระโทมนัสจนถึงมีน้ำพระเนตร จึงมีพระราชโองการตรัสไปว่า ‘...ถึงอย่างธรรมเนียมเก่าไม่มี ก็ธรรมเนียมใดที่ท่านทั้งหลายว่าดี ธรรมเนียมนั้นให้ยกเลิกเสียเถิดอย่าใช้ จงเอาอย่างธรรมเนียมไพร่มาประพฤติเถิด ให้จัดลำดับตามอายุเถิด ใครแก่ให้ไปหน้า ใครอ่อนให้ไปหลัง หรือตามลำดับบรรพบุรุษที่นับตามบุตรพี่บุตรน้องเถิด เพราะเราเกิดมาเป็นไพร่ ได้มาเป็นเจ้านายเมื่อเวลาเป็นเบื้องปลายอายุแล้ว...’ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเวลาทรงขอนิสัย และผนวชเป็นพระภิกษุ เจ้าพนักงานจึงต้องจัดให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ สองพระองค์เป็นนาคเอกนาครอง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอผนวชต่อภายหลังตามพระราชโองการดำรัสสั่ง...

ตั้งแต่นั้นมา จึงเป็นราชประเพณีที่พระบรมราชวงศ์หากจะผนวชจะต้องผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยโปรดเกล้าฯ ให้เป็น "นาคหลวง"

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในพระราชพิธี 12 เดือน ว่า

...การผนวชเจ้านายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระองค์แรกทีเดียวนั้น คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะฉะนั้น บรรดาเจ้านายภายหลังที่เป็นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ทั้งในวังหลวงวังหน้า ไม่มีพระองค์ใดที่ได้ผนวชอื่นนอกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามเลย เว้นแต่พิการเป็นที่รังเกียจอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้น จึงได้ถือกันว่า ถ้าเจ้านายองค์ใดไม่ได้ผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ย่อมเป็นคนที่เสียแล้ว หรือจะเสียคนต่อไปเป็นแน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือจนชั้นบวชเณร…