ประวัติ ของ นางสีไว

นางสีไว เป็นหนึ่งในงานจิตรกรรมฝาผนังถูกวาดขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2410-2417 ระหว่างการบูรณะซ่อมแซมวัดภูมินทร์ในสมัยเจ้าอนันตฤทธิวรเดชครองเมืองน่าน ซึ่งตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวในชาดก และแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีต โดย "นางสีไว" ถูกเขียนอยู่บนผนังล่างสุดติดกับประตูตะวันออก นับว่าภาพดังกล่าวมีความงดงามมากมีความประณีตทั้งฝีมือและอารมณ์ภาพ อันแสดงให้เห็นถึงการออกนอกกรอบหรือความอยากหลุดพ้นออกจากกรอบการเขียนเล่าเรื่องชาดกของหนานบัวผัน[1]

นางสีไวอยู่ในอิริยาบถที่กำลังเกล้าผมขึ้นเหนือศีรษะและตกแต่งมวยผมด้วยดอกไม้สีสดใส ที่ใบหูใส่ม้วนทอง เปลือยอก มีเพียงผ้าคล้องคอไพล่ชายไปด้านหลัง[5] สมเจตน์ วิมลเกษม ได้นำคำกลอนจาก วรรณพราหมณ์ชาดก มาบรรยายความงามของนางสีไวว่า "คิ้วโก่งค้อม แวดอ้อมตาขำ เหมือนจันทร์เดือนแรม สิบสองค่ำใต้ ริมปากออนแดง เหมือนแสงก๊อไต้ หยังมางามวิไล เลิศล้ำ"[5] แปลเป็นไทยว่า "คิ้วโก่งโค้งเหมือนจันทร์แรม 12 ค่ำ ริมปากแดงจิ้มลิ้มนวลเหมือนแสงทับทิม ทำไมถึงงามได้เช่นนี้"[3]