สามี ของ นางเหมือน

สามีของนางเหมือนชื่อ นายริด นายริดเกิดเมื่อใดไม่มีหลักฐานแต่สันนิษฐานว่าเกิดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ เมืองนนทบุรี โดยครอบครัวของนายริดประกอบอาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผาต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดขนุนจนได้พบกับอำแดงเหมือนหญิงสาวที่มีนิสัยชอบใฝ่หาความรู้มาร่วมเรียนกับเด็กจนเกิดเป็นความรักขึ้นมานายริดเกรงว่าจะทำให้พระศาสนาเสื่อมเสียจึงตัดสินใจสึกออกมาช่วยกิจการของครอบครัว

ต่อมาพ่อแม่ของอำแดงเหมือนคือนายเกตและอำแดงนุ่มได้ยกลูกสาวให้กับนายภูเจ้าของโรงหล่อพระเพื่อไปเป็นอนุภรรยาโดยแลกกับค่าตอบแทนแต่อำแดงเหมือนก็หนีกลับมาได้ถึง 2 ครั้งพอครั้งที่ 3 อำแดงเหมือนได้หนีไปอยู่เรือนของนายริดและภายหลังอำแดงเหมือนได้พานายริดมาขอขมาพ่อแม่แต่ทั้งสองกลับโกรธและพยายามไล่ยิงและได้บอกให้นายภูไปฟ้องพระนนทบุรีเจ้าเมืองนนทบุรีว่านายริดได้ลักพาตัวอำแดงเหมือนทำให้อำแดงเหมือนต้องโทษจำคุก

ระหว่างนั้นนายภูได้ติดสินบนพระทำมะรงหรือหัวหน้าผู้คุมให้กลั่นแกล้งและทรมานอำแดงเหมือนเพื่อให้ยอมเป็นภรรยาของนายภูขณะเดียวกันนายริดก็พยายามช่วยเหลือหญิงที่ตนเองรักแต่ไม่สำเร็จจึงทำการแหกคุกพาอำแดงเหมือนหนีเข้ากรุงเทพเพื่อร้องทุกข์โดยระหว่างทางต้องหนีการจับกุมตัวจนถึงกรุงเทพนายริดได้พาอำแดงเหมือนไปตีกลองวินิจฉัยเภรีพร้อมกับถวายฎีกาแด่รัชกาลที่ 4 ที่ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2408 โดยพระองค์ได้พระราชวินิจฉัยในฎีกาฉบับนี้และได้มีพระบรมราชโองการเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2408 ประกาศว่าอำแดงเหมือนไม่มีความผิดและสามารถแต่งงานกับนายริดได้และหลังจากนั้นก็มิได้มีการกล่าวถึงนายริดอีกเลย