เนื้อหา ของ นาฏยศาสตร์

นาฏยศาสตร์ จะกล่าวถึงองค์ประกอบต่างๆ ของละครสันสกฤต โดยจำแนกตามเนื้อหาได้ดังนี้

กำเนิด

นาฏยศาสตร์ ถือกำเนิดมาจากนาฏยเวทย์ ดังนี้ คือ ชนชาติอารยันในอินเดียตอนเหนือ แต่โบราณนับถือพระเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ 4 เล่ม คือ ฤคเวท สามเวท ยชุรเวท และอาถรรพเวท ชาวอารยันแบ่งเป็นวรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ สูทร โดยห้ามมิให้วรรณะแพศย์และสูทร เรียนหรือแม้แต่ฟังพระเวท เพราะถือว่าเป็นวรรณะต่ำ ต่อมาเมื่อพระอินทร์ต้องการจะให้คนในวรรณะต่ำได้เข้าถึงพระเวทบ้างจึงได้เกิดมีนาฏยเวทขึ้น นาฏยเวทเกิดจาก พระพรหม นำเอาวรรณศิลป์จากฤคเวท ดุริยางคศิลป์จากสามเวท การแสดงท่าทางต่างๆ จากยชุรเวท และรส หรืออารมณ์จากอาถรรพเวทมาประมวลเป็นนาฏยเวท เมื่อสำเร็จแล้วพระพรหมก็ถ่ายทอดนาฏยเวทให้แก่ภรตมุนี ผู้ซึ่งนำไปรจนาเป็นนาฏยศาสตร์แล้วถ่ายทอดต่อให้แก่ ภรตบุตร คือ ศิษย์ 100 คน ตามที่แต่ละคนถนัดต่อไป

ฟ้อนรำ ถือกำเนิดจากการฟ้อนรำของพระศิวะที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก พระศิวะ ซึ่งถือเป็นเทพสูงสุด 1 ใน 3 องค์ของศาสนาฮินดู พระองค์ได้กระทำการฟ้อนรำขึ้นในสามวาระโลก แต่ในวาระมีจุดประสงค์คือ ทำลายมายา กระทำโยคะ และประทานพร ตามลำดับ

การฟ้อนรำครั้งที่ 1 เรียกว่า ตานฑวะ ตามาสิกะ กำเนิดขึ้นเมื่อโลกเต็มไปด้วยมายาการ แม้เหล่าฤษีก็มีได้ตั้งอยู่ในธรรมะ และไม่บูชาพระศิวะ พระองค์จึงอวตารลงมาเป็นไพรวะ หรือพระพิราพ ซึ่งเป็นยักษ์ร่างสูงใหญ่ตรงเข้าทำลายกองกูณฑ์พิธีของเหล่าฤษี บรรดาฤษีจึงเสกด้วยฤทธิ์เป็นเสือโคร่งทะยานจากกองกูณฑ์เข้าทำร้ายพระศิวะ พระองค์จึงถลกหนังเสือโคร่งมานุ่งห่ม ต่อมาฤษีก็เสกงูพิษมาทำลายพระองค์ พระศิวะจึงสยบงูร้ายแล้วพันพระศอไว้ ในที่สุดฤษีก็เสกยักษ์แคระชื่อมูลยกะมาต่อสู้กับพระศิวะ พระองค์จึงดับฤทธิ์ยักษ์นั้นเสีย บรรดาฤษีจึงยอมนับถือและละเลิกมายาการทั้งปวง พระศิวะเบิกบานในชัยชนะจึงร่ายรำพร้อมกับไกวบัณเฑาะว์ ถือเป็นกำเนิดของการฟ้อนรำในโลก พระศิวะจึงได้ชื่อว่า ศิวนาฏราช หรือราชาแห่งการฟ้อนรำ

การฟ้อนรำครั้งที่ 2 เรียกว่า สนธยามฤต เกิดขึ้นเมื่อพระศิวะดื่มด่ำในความงามของสนธยา ณ ไกรลาสอันเป็นภูเขาที่ประทับบำเพ็ญตบะ พระองค์จึงทรงฟ้อนรำด้วยความสงบและสง่างาม ใบหน้าปราศจากความรู้สึกใด ๆ ทำให้ผู้บูชาพระองค์เกิดศานติขึ้นในใจ เกิดการปล่อยวางทิฐิทั้งปวง เกิดญาณสมาบัติ และเกิดโมกษะ คือ ความสุข

การฟ้อนรำครั้งที่ 3 เรียกว่า นาทานตะ เกิดขึ้นเมื่ออธิเศศนาคราชผู้ติดตามพระศิวะเมื่อคราวไปปราบฤษี และเห็นพระศิวะฟ้อนรำครั้งแรก ได้ทูลขอให้พระองค์ฟ้อนรำเป็นขวัญตาอีกครั้ง พระศิวะจึงฟ้อนรำในวิหารของจิฑัมพารามในรัฐทมิฬนาฑุ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล พระศิวะปรากฏพระองค์ในร่างของฤษีทรงนุ่งห่มหนังเสือ มีอสรพิษพันพระศอ มี 4 กร กรขวาหนึ่งไกวบัณเฑาะว์เพื่อแสดงอำนาจแห่งการสร้างสรรค์และการกำหนดจังหวะ อีกกรขวาหนึ่งอยู่ในท่าอัพยาคือทำมืองุ้มให้นิ้วชี้ฟ้า เพื่อปกป้องผู้ที่บูชาพระองค์ กรซ้ายหนึ่งถือไฟหมายถึงกองกูณฑ์บูชา อีกมือซ้ายหนึ่งอยู่ในท่าฑัณฑหัสถ์ คือยกกรซ้ายไปทางขวาขนานพื้นแล้วชี้ลงที่เท้าซ้ายซึ่งยกขึ้นในท่ากันจิตะปาฑิระ ประหนึ่งทานบารมี ส่วนเท้าขวาเหยียบมารแคระมูลยกพ เป็นสัญลักษณ์ของการขจัดความชั่วร้ายให้หมดสิ้นไป

ละคร ถือกำเนิดจากพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทวดาได้จัดการแสดงเฉลิมฉลองในงานอินทรธวัชหรือธงของพระอินทร์ การแสดงนี้เรียกว่าอสูรปราชัย บรรดาอสูรที่นั่งดูอยู่นั้นพากันโกรธแค้นและออกจากสถานที่นั้นไป จากนั้นบรรดาอสูรจึงพากันกระทำเวทมนตร์ให้การแสดงวิบัติ เช่น ตัวละครจำบทและท่ารำไม่ได้ เมื่อพระอินทร์ทรงทราบ จึงทำลายเวทมนตร์ของเหล่าอสูร โดยโบกธงหรือตีอสูรเหล่านั้นด้วยด้ามธง อสูรจึงพากันแก่หง่อมหมดฤทธิ์ การแสดงจึงดำเนินไปได้ตามปกติ

โรงละคร ถือกำเนิดจากพระพรหม ทรงให้พระวิศวกรรมผู้เป็นเทวสถาปนิก เนรมิตโรงละครที่มีระบบเสียงที่ดีขึ้น เพื่อให้การเข้าดูละครมีการตรวจตราอย่างเข้มงวดมิให้อสูรมารบกวนคนดู โรงละครต้องมีขนาดที่เหมาะสม  ดูภาพและฟังเสียงได้ชัดเจน มีการระบายอากาศที่ดี


ภาวะและรส

ภาวะ คือ การแสดงออกของอารมณ์โดยอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ทางกายภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความบันเทิงใจในลักษณะต่าง ๆ เรียกว่า รส ทั้งภาวะและรสนี้มีลักษณะเป็นเอกเทศ แต่อยู่ร่วมกันเป็นวงจร เพราะในขณะที่ฟ้อนรำภาวะและรสเกิดขึ้นสลับกันไปและอาศัยซึ่งกันและกัน

ท่าทางของมือ เท้า แขน ขา ลำตัว เป็นภาวะคงที่เดิม เมื่อนำมารวมกันเป็นท่ารำก็เกิดเป็นภาวะใหม่ สิ่งที่ส่งเสริมคือ ดนตรี เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ แสง สี เป็นต้น ทั้งหมดนี้ประมวลกันเกิดเป็นความบันเทิง คือ เป็นรสขึ้นในใจ และรสที่เกิดขึ้นนี้จะสะท้อนให้เกิดภาวะใหม่ต่อไป เป็นเช่นนี้จนกว่าการฟ้อนรำนั้นจะจบลง

ภาวะมีทั้งหมด 4 ประเภท ดังนี้

1.     สถายีภาวะ คือ ธาตุแท้ของจิตใจหรือวัตถุ เช่น ความรัก หรือความร้อนของไฟ มีทั้งหมด 9 ลักษณะ ดังนี้

รติภาวะ :        ความยินดี

หาสะภาวะ :     ความรื่นเริง

โศกะภาวะ :     ความแห้งใจ

โกรธะภาวะ :    ความดุร้าย

อุตสาหะภาวะ : ความพยายาม

ภยะภาวะ :      ความกลัว

ชุคุปสะภาวะ :  ความชัง

วิสมยะภาวะ :   ความอัศจรรย์ใจ

ศานตะภาวะ :   ความสงบ

2.     วิภาวะ คือ อาการที่เกิดขึ้นภายใน

3.     อนุภาวะ คือ กิริยาที่ผู้มีความรักแสดงออกมา หรือทำท่าทางให้ปรากฏ เช่น เขินอาย โปรยสายตา

4.     วยภีจารีภาวะ คือ สิ่งส่งเสริมที่นำมาปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกนึกรัก เช่น เครื่องแต่งกายอันสวยงาม ดอกไม้ กลิ่นหอม

รส คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจคนดูและผู้แสดง อันเป็นผลมาจากภาวะ เช่น สถายีภาวะทั้ง 9 ลักษณะ ทำให้เกิดรส 9 ประการ ดังนี้

รติภาวะ     ทำให้เกิด ศฤงคาระรส   (รสจากความรัก)

หาสะภาวะ ทำให้เกิด หาสยะรส      (รสจากการหัวเราะ)

โศกะภาวะ ทำให้เกิด กรุณารส       (รสจากความกรุณา)

โกรธะภาวะ ทำให้เกิด เราทระรส      (รสจากความดุร้าย)

อุตสาหะภาวะ ทำให้เกิด วีระรส       (รสจากความกล้าหาญ)

ภยะภาวะ   ทำให้เกิด ภยานกะรส    (รสจากความกลัว)

ชุคุปสะภาวะ ทำให้เกิด พีภัตสะรส    (รสจากความเบื่อ)

วิสมยะภาวะ ทำให้เกิด อัทภุตะรส    (รสจากความตื่นเต้น)

ศานตะภาวะ ทำให้เกิด ศานติรส      (รสจากความโล่งใจ)

ภาวะและรส เป็นปรากฏการณ์ที่มีความสลับซับซ้อน และมีประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปใช้อธิบายด้วยเหตุผลถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฎขึ้นบนเวทีในขณะแสดง ตลอดจนนำไปใช้กำหนดทิศทางของการแสดงละคร การตีบทของผู้แสดง และการสร้างความรู้สึกหรือรสชนิดใดชนิดหนึ่ง ให้เกิดขึ้นในใจคนดูได้อย่างถูกต้อง


ตัวละคร

นาฏยศาสตร์จำแนกประเภทตัวละครเอาไว้ 3 รูปแบบ ดังนี้

จำแนกตามกลุ่มตัวละคร คือ นายกะ คือตัวละครนำฝ่ายชาย นายิกา คือตัวละครนำฝ่ายหญิง และประกฤติ ตัวละครอื่น ๆ

จำแนกตัวละครออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายนายกะ และฝ่ายตรงข้ามคือ ประตินายกะ

จำแนกตามลักษณะนิสัย สังคม และวัฒนธรรม  คือ อุตมะ มัธยะ และอัธมะ

·     อุตมะ เป็นตัวละครชั้นสูง มีอุดมคติสูงส่ง มีรูปร่างงดงาม มีความชำนาญในศิลปศาสตร์ มีสติปัญญามาก มีความกล้าหาญ มีความเสียสละ มีความโอบอ้อมอารี และมีความอดทนอดกลั้น

·     มัธยะ เป็นตัวละครชั้นกลาง มีความรู้ดีในศิลปศาสตร์ รู้เรื่องความเป็นไปต่าง ๆ ของโลก มีการศึกษา วัฒนธรรม และจริยธรรม

·     อัธมะ เป็นตัวละครชั้นต่ำ มีกิริยามารยาทหยาบกระด้าง จิตใจต่ำ ตระหนี่ โลภ อารมณ์ร้าย ชอบทำลาย ชอบส่อเสียด

ผู้แสดง หรือ ประยุกตะ หมายถึง ผู้มีหน้าที่ต่าง ๆ ในการแสดงนาฏศิลป์ ดังนี้

1.     สูตรธาระ คือ ชายผู้เป็นหัวหน้าคณะ เป็นนายโรงบังคับบัญชา เป็นผู้กำกับการแสดง เป็นนายกะหรือผู้แสดงนำฝ่ายชาย เป็นผู้ทำพิธีเบิกโรงบูชาเทวดา และกล่าวนำเบิกการแสดง

2.     นที คือ หญิงผู้แสดงเป็นนางเอก และมักจะเป็นภริยาของสูตรธาระ

3.     กวี คือ ผู้แต่งบท หรือผู้ทำบท กวีมักทำงานใกล้ชิดกับสูตรธาระ

4.     ปาริปาวศวกะ คือ ผู้กำกับเวที หรือผู้ช่วยผู้กำกับแสดง ทำหน้าที่ช่วยเหลือสูตรธาระ

5.     นายกะ คือ ผู้ที่แสดงประจำเป็นพระเอก

6.     นายิกา คือ ผู้ที่แสดงประจำเป็นนางเอก

7.     วิฑูษกะ คือ ผู้แสดงประจำตัวตลกชาย มักเป็นคนใช้หรือผู้ติดตามตัวพระเอกคอยสร้างความตลกขบขัน คอยเตือนสติพระเอก คอยเสียดสี และคอยพูดจากับคนดู

8.     วิตะ คือ ผู้แสดงนางยั่วประจำ

9.     ชีตะ คือ ผู้แสดงประจำ เป็นผู้ติดตามตัวละครสำคัญ เช่น ผู้ติดตามนางเอก ผู้ติดตามแม่ทัพ เป็นต้น

10.  ศการะ คือ ผู้แสดงประจำเป็นตัวเบ็ดเตล็ด เช่น ทหาร หรือนางกำนัล

คุณสมบัติที่สำคัญของผู้แสดง

1.     ต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถแสดงกิริยาท่าทางต่าง ๆ ได้

2.     ต้องเป็นผู้มีความสามารถในการเปล่งเสียงให้ดังชัดเจน และพูดเป็น คือพูดให้มีสำนวน สำเนียงและอารมณ์อย่างตัวละครที่ตนสวมบทบาทอยู่นั้นได้

3.     ต้องเป็นผู้มีจิตใจกล้าหาญ ไม่ประหม่าในที่ชุมนุม และผู้ดู

4.     ต้องเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จำบทบาท บทเจรจา บทร้อง บทรำได้ดี

5.     ต้องเป็นผู้มีสาตวิกะ คือ มีความสามารถแสดงเป็นตัวเดิมในเรื่อง หรืออีกนัยหนึ่ง คือสามารถแสดงเป็นตัวละครหรือ “สวมวิญญาณ” ตัวละครนั้น ๆ ได้


บทละคร

นาฏยศาสตร์เรียกบทละครว่า รูปะ หมายถึง บทที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อแสดง และเรียกการแสดงละครเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่า รูปกะ โดยจำแนกประเภทออกตามเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้

จำแนกตามรูปแบบ มีทั้งหมด 10 รูปแบบ เรียกว่า ทศรูปกะ ดังนี้

1.     นาฏกะ เป็นละครชั้นเลิศ มีองค์ประกอบทางละครครบถ้วน ตัวเอกเป็นกษัตริย์ที่มีชื่อเสียง หรือเป็นผู้มีศีลธรรม เนื้อหาอาจได้เค้ามาจากปกรณัม หรือประวัติศาสตร์ ที่มีความนิยมอยู่แล้ว โดยถือว่าเป็นเรื่องในอดีต ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในปัจจุบันหรืออนาคตใด ๆ ทั้งสิ้น เนื้อเรื่องมี 5 - 10 องก์ หรือฉาก โครงเรื่องมี 5 ส่วน ให้รติรส และวิริยะรสเป็นหลัก โดยมีรสอื่นสนับสนุน นาฏยะยังควรจบเรื่องโดยให้พระเอกบรรลุถึงธรรมะ กามะ หรืออรรถะ อันเป็นปุรุษารถะ หรือเป้าหมายหลักของชีวิต

2.     ประกรณะ มีลักษณะคล้ายกับนาฏกะ แต่ลดฐานะลงมาเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชา เนื้อหาเป็นจินตนาการล้วน ตัวเอกอาจเป็นคนชั้นสูง เช่น พราหมณ์ มนตรี หรือพ่อค้าวาณิช ที่สำคัญคือ ต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงระหว่างนางคณิกา พ่อค้า นางยั่ว และตัวละครชั้นต่ำ ละครประกรณะยังอาจแบ่งได้เป็น 3 ชนิดตามลักษณะของนางเอก ได้แก่ สุทธะ คือนางเอกที่แต่งงานแล้ว ธูรตะ  นางเอกที่เป็นนางบำเรอ  และมิศระ คือนางเอกที่เป็นนางบำเรอและแต่งงานแล้ว

3.     อังคะ หรือ อุตสฤษฏางคะ (อุตฺสฺฤษฺฏางฺค) โดยมากมีองก์เดียว บ้างก็ว่าเป็นองก์ที่เสริมเพิ่มเข้ามา ใช้เป็นละครโหมโรงก่อนเล่นเรื่องจริง หรือสรุปเรื่องทั้งหมด โดยนำเค้าเรื่องมาจากเรื่องที่รู้จักกันดี ภรตมุนีเสนอว่ากวีอาจใช้จินตนาการสร้างโครงเรื่องขึ้นใหม่ก็ได้ แต่ตัวละครเป็นมนุษย์เท่านั้น เนื้อหาเป็นเรื่องเศร้า แต่ไม่มีการตาย เป็นการคร่ำครวญของผู้ที่อยากจะตาย เช่นหญิงที่คร่ำครวญจากการสูญเสียเพราะสงคราม แต่ไม่ได้แสดงการสู้รบดังกล่าวบนเวที

4.     ฑีมะ บทละคร 4 องก์ เนื้อหาเกี่ยวกับการรบและความน่าหวาดกลัว อันเป็นที่รู้จักกันดี ตัวเอกเป็นอสูร เทพเจ้า มนุษย์กึ่งเทพ หรือเปรต อาจมีมหาราชบ้าง ไม่มีบทนำเรื่อง และใช้เวลานานถึง 4 วัน

5.     วยายูกะ เป็นละครองก์เดียว ฉากเดียว เนื้อหาว่าด้วยการสู้รบ ไม่มีเรื่องรัก หรือเรื่องขบขัน ตัวเอกอาจเป็นนักรบ หรือมนุษย์กึ่งเทพที่รู้จักกันดี เนื้อเรื่องมักจะมีกำหนดเวลาไว้เพียง 1 วัน

6.     ภาณะ เป็นบทสนทนาแบบองก์เดียว ฉากเดียว เป็นการเปิดเรื่อง (มุข) และจบเรื่อง (นิรฺวหณ) ในคราวเดียว ให้ผู้แสดงเป็นผู้เล่าเรื่องทั้งหมด แนวเนื้อหามีได้หลากหลาย แต่ภาษาจะต้องวิจิตรบรรจง โดยมีดนตรีและการขับร้องก่อนแสดง และก่อนจบการแสดง  คุณลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของภาณะก็คือ มีลักษณะการเต้นรำทั้ง 10 แบบ (ลาสฺยางฺค)

7.     สมาวการะ บทละคร 3 องก์ เนื้อหามาจากนิทาน และว่าด้วยเทพเจ้ากับอสูร ฉันท์ที่ใช้ควรจะเป็นฉันท์ที่ยาวและมีจังหวะหนัก เช่น สรัคธราฉันท์ ส่วนฉันท์อื่นๆ ที่อาจมีได้แก่ อุษณิ, กุฏิละ และ อนุษฏุภฉันท์

8.     วิถี คล้ายกับ ภาณะ คือเป็นบทละครองก์เดียว เป็นเรื่องตลกขบขัน หรือเรื่องความรักแต่มีตลกแทรก อาจแสดงคนเดียว หรือสองคนก็ได้ และยังเน้นการเต้นรำด้วย

9.     ประหัสนะ เป็นละครขบขัน ตัวเอกและตัวละครจะเป็นใครก็ได้ มีการใช้ชั้นปฏิภาณและศิลปะเชิงกวี อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สุทธะ (สุทฺธ) หรือแบบธรรมดา ตัวละครอาจเป็นภิกษุ พราหมณ์ คนรับใช้ หรือคนพิการ อีกประเภทคือ สังกีรณะ (สํกีรฺณ) หรือแบบพิเศษ ตัวละครมักเป็นคนต่ำต้อย เช่น โสเภณี นักดนตรี ทาส โจร ตัวละครชั้นต่ำจะพูดภาษาปรากฤตชั้นต่ำหรือภาษาถิ่นของตน

10.  อีหัมริกะ ละคร 4 องก์ ตัวเอกเป็นเทพเจ้า หรือมนุษย์ที่มีชื่อเสียง โครงเรื่องเกี่ยวกับความปรารถนาจะได้หญิงสาว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวสวรรค์ และบรรลุถึงได้ยาก อันบ่งชี้จากคำที่ใช้เรียกประเภทของละคร  ว่า อีหามฺฤค ซึ่งหมายถึง ความปรารถนา (อีหา) จะได้กวาง (มฺฤค) เนื้อหาเกี่ยวกับความรักและความสุข อาจจบแบบไม่สมหวัง แต่ไม่มีการตาย โดยเป็นการผสมระหว่างตำนานและจินตนาการของกวี

นอกจากนั้น นาฏยศาสตร์ยังจำแนกตามเนื้อหา ดังนี้

1.     โลกธรรมี เป็นบทมีเนื้อหาที่เป็นสภาพสมจริงตามธรรมชาติ การดำเนินเรื่องเป็นไปตามปกติวิสัยของมนุษย์ อาจเป็นเรื่งราวในอดีตหรือปัจจุบันก็ได้ โลกธรรมีเป็นเรื่องราวที่แสดงความเป็นไปตามธรรมดาโลก

2.     นาฏยธรรมี เป็นบทที่มีเนื้อหาแแตกต่างไปจากธรรมดาโลก มีตัวละครที่แปลกประหลาดไปจากมนุษย์ธรรมดา มีเหตุการณ์ที่เป็นอิทธิฤทธิ์นอกเหนอปรากฏการณ์ธรรมชาติ มีสถานที่และเครื่องนุ่งห่มที่วิจิตรเหนือความเป็นจริง


การเขียนบทละคร

ในที่นี้ หมายถึงการเขียนบทละครให้มีปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการแสดงละครได้ โดยเฉพาะนาฏกะ และประกรณะ จะต้องมีปัจจัยสำคัญดังนี้

1.   สันธิ คือ การแบ่งขั้นตอนของโครงเรื่องออกให้เห็นชัดเจนว่า เรื่องดำเนินจากจุดเริ่มต้นแล้วเข้มข้นขึ้น และคลี่คลายไปสู่จุดจบอย่างไร สันธิแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้

·      มุขะสันธิ คือ การเริ่มเรื่อง เป็นการแนะนำผู้ดูให้เข้าใจความเดิมและตัวละครสำคัญในเรื่อง

·      ประติมุขะสันธิ คือ การขยายเรื่อง เป็นการดำเนินเรื่องให้เห็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แสดงพฤติกรรมของตัวละครต่าง ๆ ตามที่แสดงเจตนาไว้ในมุขะสันธิ

·      การภะสันธิ คือ การพัฒนาเรื่อง เป็นการแสดงความขัดแย้งของตัวละครฝ่ายนายกะ คือฝ่ายพระเอก กับฝ่ายประตินายกะที่รุนแรงเข้มข้นขึ้น

·      อวมรศะสันธิ คือ เป็นการที่พระเอกตกอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมถึงขั้นต้องมีการตัดสินใจกระทำการบางอย่างให้เด็ดขาดลงไป

·      นิรวานะสันธิ คือ การสรุปเรื่อง การดำเนินเรื่องไปสู่จุดจบบริบูรณ์

2.   สันธยานกะ คือ การแบ่งสันธิออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ เพื่อให้มีสถานการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละสันธิเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของสันธินั้น ๆ หน้าที่สำคัญของสันธยานกะในแต่ละสันธิแบ่งออกเป็น 6 ประการ ดังนี้

·      แสดงความปรารถนาของตัวละคร

·      รักษาความต่อเนื่องของเนื้อเรื่องโดยไม่ทำลายวัตถุประสงค์หลักของเรื่อง

·      ทำให้การดำเนินเรื่องในแต่ละสันธิน่าประทับใจ

·      ซ่อนเงื่อนงำสำคัญไว้ในกาลเทศะที่สมควร

·      บรรลุปัจจัยที่ทำให้เกิดความประหลาดใจ

·      เปิดเผยสิ่งต่าง ๆ ที่ควรเปิดเผยในกาลเทศะที่สมควร

3.   ลักษณะ คือ กลวิธีในการนำฉันทลักษณ์ต่าง ๆ มาใช้ในการแสดงออกของสถานการณ์และความคิด โดยฉันทลักษณ์ คำศัทพ์ และสำนวนที่จะนำมาประพันธ์เป็นบทบรรยายและบทเจรจา ต้องคำนึงถึง

·      ภูมิธรรม หรือพื้นเพของตัวละคร

·      ภาวะกับรส ที่ต้องการให้บังเกิดแก่คนดู

·      ความแจ่มแจ้งของสาระในเรื่องที่ต้องการถ่ายทอดให้คนดูเข้าใจ

·      ความสัมพันธ์กับลักษณะของดนตรีและทำนองเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง


การแสดงออก

การแสดงออก หมายถึง การที่ผู้แสดงนำปัจจัยต่าง ๆ มาใช้ในการแสดงให้ผู้ชมได้อรรถรสอย่างสมบูรณ์

วฤติ คือ วิธีแสดงหลัก 4 ประการ ดังนี้

1.     ภารตีวฤติ คือ การแสดงด้วยวาจา หมายถึงการเจรจาได้อย่างถูกต้องตามอักขรวิธี ชัดเจน สื่อความหมาย และอารมณ์ของตัวละครได้ดี

2.     สาตวตีวฤติ คือ การแสดงด้วยใจ หมายถึงการแสดงอารมณ์ของตัวละครได้ตรงกับนิสัยใจคอของตัวละคร ที่ควรจะปรากฏขึ้นในสภาพการณ์ขณะนั้น

3.     ไกศีกีวฤติ คือ การแสดงด้วยกายหรือทำกิริยาที่ประณีต นุ่มนวล ละเอียดอ่อน อย่างอิตถีเพศ

4.     อารภตีวฤติ คือ การแสดงด้วยกายหรือกิริยาที่เข้มแข็ง ห้าวหาญ อย่างบุรุษเพศ

โลกธรรมี หมายถึง การแสดงที่สมจริงตามธรรมชาติ มีการเคลื่อนไหวและการพูดจาตามธรรมดาของมนุษย์ เช่น การเจรจาเป็นร้อยแก้ว มีการนุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าตามกาลเทศะ โดยรสนิยมและธรรมเนียมสังคมปกติ

นาฏยธรรมี หมายถึง การแสดงที่อาศัยการเคลื่อนไหวและการพูดจาที่ประณีต วิจิตร อาทิ การฟ้อนรำ การเจรจาแบบร้อยกรอง การนุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่งดงามหรูหรา อีกทั้งมีรูปแบบที่เหมาะสมแก่การฟ้อนรำ เป็นต้น

อภินายะ หมายถึง ปัจจัยที่ผู้แสดงใช้แสดงละคร ให้คนดูเข้าใจนิสัย ความคิดจิตใจ อารมณ์ของตัวละคร อภินายะมี 4 ประเภท ดังนี้

1.     องคภินายะ เป็นการแสดงออกหรือการสื่อความหมายด้วยกาย คือ ท่าทางและการเคลื่อนไหว

2.     วาจิกภินายะ เป็นการแสดงออกหรือการสื่อความหมายด้วยวาจา คือการพูด การส่งเสียงต่าง ๆ

3.     สาตวิกภินายะ เป็นการแสดงออกและการสื่อความหมายด้วยใจ คือ การแสดงอารมณ์โดยผ่านทางร่างกายและวาจา

4.     อหารยภินายะ เป็นการแสดงออกและการสื่อความหมายด้วยการแต่งกายรวมทั้งการแต่งหน้า การแต่งกายและการแต่งหน้าที่เหมาะสมจะช่วยแปลงผู้แสดงเป็นตัวละครได้อย่างแนบเนียนในเบื้องต้น อีกทั้งสามารถบ่งบอกลักษณะเฉพาะของตัวละครนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี อาทิ เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม รสนิยม


การฟ้อนรำ

นาฏยศาสตร์แบ่งการฟ้อนรำออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

1.     นาฏยะ เป็นการฟ้อนรำพร้อมกับแสดงอารมณ์

2.     นฤตะ เป็นการฟ้อนรำโดยเฉพาะไม่เจือปน้วยความหมายพิเศษ หรืออารมณ์ใด ๆ

3.     นฤตยะ เป็นการฟ้อนรำที่สื่อความหมาย ซึ่งอาจเป็นประโยคสั้น ๆ ตอนสั้น ๆ หรือละครทั้งเรื่อง

การฟ้อนรำประกอบด้วยการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของร่างกาย 3 ส่วน ดังนี้

1.     อังคะ คือ อวัยวะหลักที่ใช้ในการฟ้อนรำ ได้แก่ ศีรษะ มือ เอว อก แขน ขา เท้า

2.     อุปอังคะ คือ อวัยวะรองที่ใช้ในการฟ้อนรำ ได้แก่ นัยน์ตา คิ้ว จมูก ริมฝีปากล่าง แก้ม และคาง

3.     ปรัตยังคะ คือ อวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่ใช้ในการฟ้อนรำ เช่น ไหล่ หลัง และหน้าท้อง

สำหรับโครงสร้างของการฟ้อนรำ นาฏยศาสตร์ได้กำหนดมาตราไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ นาฏยศาสตร์กำหนดท่ารำแม่บทซึ่งเรียกว่า กรณะ ไว้ 108 ท่า

·     กรณะ 1 ท่า ประกอบด้วยร่างกาย 3 ส่วน คือ สถานตะ (ตำแหน่งของศีรษะและลำตัว) นฤตหัสกะ (ตำแหน่งของมือและนิ้วมือ) จารี (ตำแหน่งของแขน ขา มือ และเท้า) กรณะเหล่านี้จะเชื่อมกันด้วย เรจกะ หรือ ท่าเชื่อม

·     กรณะ 2 ท่าขึ้นไป รวมกันเป็น 1 มาตริกะ

·     มาตริกะ 3 - 4 หน่วยขึ้นไปรวมกันเป็น 1 องคาหระ

·     องคาหระหลายหน่วยมารวมกันเรียกว่า บิณธิพันธะ  หรือรำชุด ตลอดจนถึงการแสดงละครทั้งเรื่อง

คุณลักษณะของการฟ้อนรำ

1.     ตานฑวะ เป็นการฟ้อนรำให้เห็นถึงความเข้มแข็ง หนักแน่น สง่างาม ตามลักษณะบุรุษเพศ

2.     ลัศยะ เป็นการฟ้อนรำให้เห็นถึงความประณีต อ่อนหวาน นุ่มนวล ตามลักษณะอิตถีเพศ


เสียงและคำพูด

คำพูดเป็นเครื่องแสดงเจตคติและทัศนคติของผู้เขียนบท โดยฝ่ายตัวละครเปล่งเสียงเป็นคำที่มีความหมาย คำพูดเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างตัวละคร และเป็นปัจจัยหลักให้แก่ผู้แสดงนำไปตีความในการแสดงออก นอกจากนี้ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างอารมณ์ต่าง ๆ และต่อการบรรเลงกับการขับร้อง

ในการพูดนั้น นาฏยศาสตร์กำหนดให้ภาษากลาง หรือภาษาหลักคือ ภาษาสันสกฤต และมีภาษาแขนงตามท้องถิ่นที่สำคัญของอินเดียเรียกว่า ภาษาปรากฤต โดยแบ่งภาษาออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1.     อธิภาษา         คือ ภาษาของมหาบุรุษ

2.     อารยะภาษา     คือ ภาษาของผู้ทรงเกียรติ

3.     ชาติภาษา       คือ ภาษาของสามัญชน

4.     ยูนยันตรีภาษา  คือ ภาษาของสัตว์

ภาษาสันสกฤตนั้น กำหนดให้ใช้เฉพาะวีรบุรุษ ผู้เปี่ยมด้วยจิตใจสูงส่ง สัญญาสี หรือผู้สละกิเลส นักพรต ภิกษุในศาสนาพุทธและลัทธิอื่น ๆ ในบางครั้งก็ยินยอมให้พระราชินี คณิกาชั้นสูง ศิลปินหญิง และนางอัปสรพูดภาษาสันสกฤต

ภาษาปรากฤตนั้น กำหนดให้ใช้เฉพาะพระเอกที่แปลงปลอมตนและตัวละครที่ไม่สูงส่งเท่ากลุ่มที่ใช้ภาษาสันสกฤต รวมทั้งพระราชินี สำหรับกรณีของมเหสีหรือพระราชินี ที่กำหนดให้พูดภาษาปรากฤตมิใช่เรื่องของต่ำศักดิ์ แต่เป็นเพราะภาษาปรากฤตนุ่มนวล และมีพื้นของการออกเสียงเหมาะกับสตรีเพศมากกว่าภาษาสันสกฤต  ซึ่งออกเสียงจากส่วนลึกของหลอดลม หากผู้หญิงออกเสียงให้ถูกต้องก็จะไพเราะ


ดนตรี

สวาระ หรือ ตัวโน๊ต เกิดจากการที่มนุษย์เปล่งเสียงระดับต่าง ๆ เป็นเสียงสูง เสียงต่ำจากลำคอ และเกิดจากการบรรเลงพิณวีณา แหล่งกำเนิดเสียงมี 3 แหล่ง คือ อก ลำคอ และศีรษะ ซึ่งผู้แสดงต้องรู้จัก และเข้าใจวิธีการเปล่งเสียงให้ถูกต้องตามจุดกำเนิดเสียงนั้น จึงจะทำให้การเปล่งเสียงสมบูรณ์

อาโตธยะ คือ เสียงจากดนตรี เกิดจากเครื่องดนตรี 4 ประเภท ดังนี้

1.     ตาตะ อาโตธยะ คือ เครื่องสาย

2.     สุษิระ อาโตธยะ คือ เครื่องเป่า

3.     ฆนะ อาโตธยะ คือ เครื่องกำกับเวลา (ฉิ่ง)

4.     อวนันทะ อาโตธยะ คือ เครื่องตี

นอกจากนี้ นาฏยศาสตร์ยังได้กล่าวถึง การจัดห้วงเวลาของดนตรี คือ ตาละ ซึ่งเป็นมาตราที่ถี่กว่า 1 วินาที เรียกว่า กะลา และมีการกำหนดลักษณะของกรผสมวงแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย

ปฏะ คือ เพลงที่เกิดจากการผสมผสานของสวาระ และตาละ เพลงเป็นการเรียงร้อยถ้อยคำให้เป็นระเบียบ งดงาม หรูหรา ไพเราะ เลือกสรรซึ่งสิ่งเหล่านี้ รวมกันเรียกว่า  ธุรวา หรือเนื้อร้อง การที่จะแต่งหรือร้องธุรวาให้ได้ดี ต้องคำนึงถึงบท สถานภาพตัวละคร และรสที่ต้องการกาลเทศะ ด้วยเหตุนี้ ธุรวาจึงไม่ใช่บทเจรจาตามปกติของตัวละคร ธุรวามีที่ร้องดังนี้ คือตัวละครออกฉาก ตัวละครลาฉาก ประกอบนฤตะ โน้มน้าวคนดูไปสู่รสใดรสหนึ่ง เน้นรสที่ตัวละครกำลังอยู่ในห้วงแห่งอารมณ์นั้นให้มากยิ่งขึ้น


โรงละคร

โรงละคร หรือเรียกว่า นาฏคฤหะ ภรตมุนีกล่าวว่า พระวิศวกรรมเนรมิตโรงละคร 3 ประเภท

1.     วิตฤษตะ (สี่เหลี่ยมผืนผ้า)

2.     จตุรัศระ (สี่เหลี่ยมจตุรัส)

3.     ตรัยศระ (สามเหลี่ยมด้านเท่า)

สำหรับโรงละครแต่ละประเภท จะมีทั้งหมด 3 ขนาดคือ ชเยษฐะ (ขนาดใหญ่) มัธยมะ (ขนาดกลาง) และขนิษฐะ (ขนาดเล็ก) ขนาดคำนวนเป็นเมตริก ดังนี้


วิกฤษตะ        ชเยษฐะ:         50 x 25 เมตร

มัธยมะ:          30 x 15 เมตร

ขนิษฐะ:         15 x 7.5 เมตร

จตุรัศระ         ชเยษฐะ:        ด้านละ 50 เมตร

มัธยมะ:         ด้านละ 30 เมตร

ขนิษฐะ:         ด้านละ 15 เมตร

ตรัยศระ        ชเยษฐะ:        ด้านละ 50 เมตร

มัธยมะ:         ด้านละ 30 เมตร

ขนิษฐะ:         ด้านละ 15 เมตร


การก่อสร้างและการแบ่งพื้นที่โรงละคร ก่อนอื่นต้องเลือกพื้นที่ก่อสร้าง โดยคำนึงถึงลักษณะดิน จากนั้นขุดดินลึกพอสมควรแล้วกำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ออก อาทิ กระดูกหรือรากไม้ เสร็จแล้วปรับระดับดินให้เรียบเสมอและแน่น แล้วนำด้ายสายสิญจน์มาทำการปักฝัง หากด้ายขาดจะเป็นอัปมงคลต่อโรงละครและต่อประเทศ ด้วยเหตุที่จะมีมารร้ายมาทำอันตราย ทั้งนี้อาจตีความได้ว่านาฏยศาสตร์ต้องการเตือนให้กระทำการด้วยความระมัดระวัง  ตัวอย่างการแบ่งพื้นที่โรงละครแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกลาง มีดังนี้ วางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 15 x 30 เมตร โดยให้ด้านสั้นหันไปทางทิศตะวันออก แบ่งครึ่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าออกเป็นรูปจตุรัส 2 รูป ขนาด 15 x 15 เมตร ให้พื้นที่ทางตะวันออกเป็นเขตที่นั่งคนดู พื้นที่ทางตะวันตกเป็นเขตผู้แสดง และมีการกำหนดพื้นที่เป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้

1.     แบ่งเขตผู้แสดงเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน คือ 7.5 x 15 เมตร ส่วนหน้าเป็นเวที เรียกว่า รังคะ มีฉากกั้นแบ่งเป็นฉากหลังของเวที ส่วนหลังเป็นห้องแต่งตัวเรียกว่า เนปัตยะ คฤหะ

2.     เวที แบ่งครึ่งเป็นขนาด 3.5 x 15 เมตร ส่วนในยกเป็นแท่นกลางขนาด 3.5 x 3.5 เมตร เรียกว่า รังคะ ศีรษะ ใช้เป็นเวทีดนตรี ส่วนหน้าติดแนวเขตคนดู เรียกว่า รังคะ ปิฐะ ซึ่งเป็นพื้นที่การแสดงส่วนใหญ่

3.     มีกรอบเวที ตรงระหว่างเวทีกับคนดู เป็นช่องเปิดขนาดกว้าง 7.5 เมตร

4.     ถัดกรอบเวทีลึกเข้าไปข้างละ 3.5 เมตร เป็นพื้นที่พักคอยการแสดง หรือเตรียมออกฉาก

5.     มีประตูข้างละช่องเป็นทางเข้าออกของผู้แสดง จากห้องแต่งตัว

6.     พ้นเวทีสูงจากพื้นส่วนคนดู ประมาณ 0.70 เมตร

7.     มีฉากกั้นระหว่างเวทีกับหลังโรง

การกำหนดพื้นที่ของเวทีให้เหมาะสมกับการแสดงมีดังนี้ ส่วนลึก หมายถึง ภายในอาคาร ส่วนกลาง หมายถึ ห้องโถงทางออก หรือสถานที่ระหว่างภายในกับภายนอกอาคาร ส่วนที่อยู่หน้าสุด หมายถึง ภายนอกอาคาร ดังนั้นการกำหนดตำแหน่งและการเข้าออกของตัวละครต้องสอดคล้องกับบริเวณที่หมายบนเวทีด้วย

ส่วนที่คนดู มีรายละเอียดดังนี้

1.     ที่นั่งแถวแรกห่างเวที 3.5 เมตร

2.     ยกระดับที่นั่งคนดูทุกๆ แถว แถวละ 0.5 เมตร

3.     มีที่นั่ง 24 แถว แถวละ 18 ที่นั่ง รวม 432 ที่นั่ง

4.     มีทางเดินรอบแถวที่นั่ง ทั้งด้านข้าง และด้านหลัง ด้านละ 3.5 เมตร


ผลลัพธ์ของการแสดง

ความสำเร็จของการแสดงละคร เรียกกว่า สิทธิ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลัก 3 ประการ ดังนี้

1.     ปาตระ หมายถึง ความสามารถของผู้แสดงที่จะทำให้การแสดงประสบผลสำเร็จ นั่นคือ ผู้แสดงต้องเฉลียวฉลาด บคุลิกดี มีจังหวะจะโคน มีความรู้ในเรื่องของภาวะและรส เหมาะสมกับบทบาทที่ได้รับ เข้าใจบทได้ลึกซึ้ง สามารถแสดงทั้งบทรับและบทส่งได้ดี มีเสียงชัดเจน มีความกระตือรือร้น

2.     ประยูกะ หมายถึง ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ผสมกันจนเกิดความเหมาะสม เช่น เสียงเพลงร้อง เพลงบรรเลง บทเจรจา การแสดงอารมณ์เหล่านี้ที่แสดงออกมาอย่างสมเหตุสมผล

3.     สัมฤทธิ หมายถึง การประดับประดาการแสดงให้เหมาะแก่ท้องเรื่อง เช่น การแต่งกาย การตกแต่งฉาก การจัดอุปกรณ์ที่เหมาะสม

เมื่อปัจจัยทั้ง 3 อย่างครบถ้วนแล้ว การแสดงก็น่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากการแสดงเป็นการทำงาน หรือสภาพการร่วมระหว่างคนดูกับผู้แสดง ดังนั้น ความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่าย คือ ผู้แสดงต้องเก่ง เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง และคนดูต้องเป็น กลุ่มคนที่มีสมาธิและภูมิปัญญา และแสดงความนิยมชมชอบให้ปรากฏ เช่น หัวเราะ หรือปรบมือ เป็นต้น

ส่วนความล้มเหลวของการแสดง เกิดจากเหตุ 2 ประการ คือ ความไม่ถึงพร้อมของผู้ร่วมงานทั้งหมด รวมทั้งคนดู โดยเฉพาะอย่งยิ่งเกิดจากการอิจฉาริษยาของคนบางคนในกลุ่มนี้ และอีกประการ คือ เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น อุบัติเหตุไฟไหม้ แผ่นดินไหว โรงละครพัง หรือมีสัตว์มีพิษเข้ามาในที่นั่งคนดู นอกจากนี้ ยังมีจุดบกพร่องที่ทำให้การแสดงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร คือ มีข้อผิดพลาดซ้ำ ๆ กันเกิดขึ้นตลอดการแสดง ไม่ว่าข้อผิดพลาดนั้นจะเล็กน้อยเพียงใด และแม้จะเกิดเล็กน้อยเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้เกิดจุดด่างพร้อยได้ ผู้แสดงหรือผู้กำกับที่ทะเยอทะยานมากจนเกินไป เพราะขาดความรอบรู้ที่แท้จริง ก็อาจทำให้การแสดงด้อยคุณค่าได้ หรือแม้แต่การจัดแสดงทำได้ดี แต่แสดงผิดกาลเทศะก็อาจทำให้การแสดงล้มเหลวได้ ดังนั้น การจัดการแสดงให้ประสบความสำเร็จ จึงต้องใคร่ครวญให้รอบคอบ ว่าอาจเกิดข้อผิดพลาดใด ๆ ขึ้นได้บ้าง จะได้หาทางป้องกัน

สำหรับการแข่งขันในการแสดง นาฏยศาสตร์กล่าวว่า การแข่งขันชิงรางวัลในกการแสดง เต็มไปด้วยพลังแห่งการเอาชนะ และบางครั้งก็มีการอิจฉาริษยา ตลอดจนการทำลายล้างกันด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ ดังนั้นควรมีกรรมการตัดสินจำนวน 10 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ คือพิธีกรรม การแสดง การพูด ไวยากรณ์ อาวุธ ราชการ ศิลปกรรม ความรักใคร่ ดนตรี และพิธีการ ในกรณีที่ความเห็นขัดแย้ง ในศาสตร์ต่าง ๆ ให้อ้างอิงตำราหลัก ๆ ของศาสตร์นั้น ๆ ในกรณีที่มีความเห้นนขัดแย้งในเรื่องตัวละคร กรรมการก็ควรพิจารณาให้รอบคอบด้วยประสบการณ์ของตนแล้วจึงตัดสิน อนึ่ง กรรมการเหล่านี้ต้องไม่นำเอาข้อบกพร่องที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยมาประกอบการพิจารณา นอกจากนี้การจัดนั่งของกรรมการต้องสะดวกสบาย ห่างเวทีประมาณ 18 ฟุต สามารถมองเห็นได้ดี ฟังเสียงได้ชัดเจน และอยู่ในที่ซึ่งมีสมาธิมีความคิดแจ่มใส

ในส่วนของคนดูนั้น นาฏยศาสตร์กล่าวไว้ว่า ผู้ดูที่ดีควรมีคุณสมบัติที่เรียกว่า ปรีชา คือ มีความสงบ สะอาด มีจินตนาการ มีความเข้าใจ มีความเห็นใจ ไม่มีอคติ มีความสามารถในการเรียนรู้ รับรู้ภาวะและรสได้อย่างดี และมีปฏิกริยาตอบสนองอย่างเหมาะสม แต่คนดูส่วนใหญ่ไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนดังกล่าว คนดูแต่ละคนมักจะสนใจ และชื่นชมสิ่งที่ตนพบเห็น เช่น สนใจฉาก  เสื้อผ้า การแสดงที่ตื่นเต้น ดนตรีและการฟ้อนรำ หรือสนใจการแสดงอารมณ์ นอกจากนี้ อายุและเพศของคนดุก็มักป็นเครื่องชี้วัดความสนใจต่าง ๆ เช่น คนหนุ่มสาวสนใจในเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ คนคงแก่เรียนสนใจการรบ การใช้กำลัง ความกล้าหาญ นักวิชาการสนใจปรัชญา เด็กสนใจเรื่องสนุกสนาน ตื่นเต้น ผู้หญิงสนใจความสวยงามในสิ่งต่าง ๆ สำหรับคนดุที่ไม่ดี คือคนที่ไม่สนใจจะดู ไม่มีปฏิกริยาตอบสนองต่อการแสดง

เมื่อการจัดการแสดงและการตัดสินการแสดงได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วยดี และปราศจากเหตุร้ายทั้งปวงแล้ว ความสำเร็จของการแสดงละครก็ย่อมบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน