การศึกษาต่างประเทศ ของ นารถ_โพธิประสาท

เมื่ออายุได้ 20 ปี (พ.ศ. 2464) ได้รับทุนเล่าเรียนกระทรวงธรรมการไปศึกษาสถาปัตยกรรม ณ ประเทศอังกฤษ ปีแรกเรียนกับครูพิเศษก่อน แล้วจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนศิลปกรรมปอร์ตสมัธซึ่งเป็นวิชาเบื้องต้นสำหรับเตรียมเข้าศึกษาสถาปัตยกรรม สามารถเรียนจบภายใน 3 ปี

ในปี พ.ศ. 2467 ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายหมู่ลูกเสือไทยไปร่วมประชุมนานาชาติ ณ กรุงโคเปนเฮเกน เสร็จประชุมแล้วเดินทางกลับประเทศอังกฤษ ผ่านประเทศเยอรมนี เบลเยียมและฝรั่งเศส ได้แวะศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมแบบภาคพื้นยุโรปด้วยการเห็นของจริง ปีต่อมา (พ.ศ. 2468) เมื่ออายุ 25 ปีได้เลือกเข้าศึกษาสถาปัตยกรรมหลักสูตร 5 ปี ณ มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล มีผลการเรียนดีมาก ในเวลาเย็นได้ไปเรียนวิชาพิเศษเพิ่มเติมวิชาผังเมืองและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผังเมือง ระหว่างเรียน ได้รับรางวัลชมเชยในงานออกแบบอยู่เป็นนิตย์ การเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเสมอ

ระหว่างปิดภาคเรียน (พ.ศ. 2470) ได้เดินทางไปศึกษาสถาปัตยกรรม ณ ประเทศอิตาลี และในปี พ.ศ. 2471ชนะการประกวดแบบสถาปัตยกรรมที่ชาวต่างประเทศน้อยคนจะได้รับและต้องเป็นนักเรียนดีที่สุด ทำให้อาจารย์นารถได้รางวัลไปดูงานและฝึกงานซึ่งเป็นรายวิชาภาคปฏิบัติวิชาหนึ่ง ที่เมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 6 เดือน ได้มีโอกาสร่วมออกแบบและควบคุมงานโรงภาพยนตร์ นิว ฟอกซ์ ดีทรอยท์

ระหว่างเรียน ศาสตราจารย์เรลลี แห่งมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลได้เขียนรายงานผลการเรียนต่อผู้ดูแลนักเรียนไทยเป็นภาษาอังกฤษไว้เป็นอย่างดีเยี่ยม ว่าเป็นนักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดเท่าที่มหาวิทยาลัยเคยให้มา และว่าหากเป็นคนอังกฤษแล้ว จะต้องได้รางวัล Rome Scholarship ซึ่งเป็นรางวัลชั้นสูงสุดแต่ให้เฉพาะคนอังกฤษ

อาจารย์นารถ จบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2472 ขณะอายุ 28 ปี โดยได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 แขนงการก่อสร้างและได้เป็นอับดับหนึ่ง (Bachelor of Architecture With 1st class Honours in Architectural Construction 1st place) และได้สมัครสอบปฏิบัติวิชาชีพจากสถาบันวิชาชีพ 3 แขนงและเข้าเป็นสมาชิกในสถาบันวิชาชีพต่างๆ ดังนี้

  1. ประกาศนียบัตรสมทบแห่งราชบัณฑิตยสภาสถาปนิกอังกฤษ (A.R.I.B. Qual.)
  2. ประกาศนียบัตรสมาชิกสมทบแห่งสภาวิศวกรรมก่อสร้าง (A.I.Struct.E.)
  3. ประกาศนียบัตรสมาชิกแห่งราชบัณฑิตยสภาสุขาภิบาล (M.R.San.I.)

อาจารย์นารถได้ใช้เวลาที่เหลือจากการศึกษาใฝึกงานในประเทศอังกฤษ 6 เดือน และเดินทางท่องยุโรปอีก 2เดือนแล้วจึงเดินทางกลับถึงประเทศไทย

การทำงาน

หลังจากกลับจากต่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2473 เมื่อมีอายุ 29 ปีเข้ารับราชการเป็นอาจารย์โท โรงเรียนเพาะช่างซึ่งเป็นโรงเรียนสอนเฉพาะวิชาช่างสาขาต่างๆ แต่ยังไม่มีสาขาสถาปัตยกรรม จึงได้วางหลักสูตรวิชาสถาปัตยกรรมเป็นการทดลองเพื่อนำผลทดสอบมาใช้สำหรับแผ้วถางทางเปิดเป็นหลักสูตรโดยตรงในมหาวิทยาลัยต่อไป

เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2475 กระทรวงธรรมการมีคำสั่งให้โอนการสอนวิชาสถาปัตยกรรมในโรงเรียนเพาะช่างไปเป็นแผนกวิชาสังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเปิดสอนที่บ้านพักผู้บัญชาการมหาวิทยาลัย (เรือนพระรตราชา) เป็นการชั่วคราว ทำให้อาจารย์นารถต้องทำงานอย่างหนักทั้งทางด้านการบริหารและวิชาการ เชิญสถาปนิกจากหน่วยงานอื่นมาช่วยสอน เช่น หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ หม่อมเจ้าประสมสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์สถาปนิกกรมรถไฟและผู้อื่นอีกหลายท่าน ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 รัฐบาลจึงได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้แผนกสถาปัตยกรรมมีฐานะเป็นแผนกวิชาอิสระขึ้นตรงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย