การผลิต ของ นิรันดร์ราตรี

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เกิดขึ้นจากความผูกพันและความทรงจำที่วรรจธนภูมิ (ผู้กำกับภาพยนตร์) มีต่อการชมภาพยนตร์ร่วมกับครอบครัวในวัยเด็กและพื้นที่ของโรงภาพยนตร์เก่าที่เขาได้สัมผัส[1] และความต้องการที่จะบันทึกภาพบรรยากาศของโรงภาพยนตร์สแตนอโลนในประเทศไทย รวมถึงชีวิตและชะตากรรมของคนที่แวดล้อมโรงภาพยนตร์เหล่านั้นที่ค่อย ๆ จางหายไป เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แก่คนรุ่นต่อไป[2]

วรรจธนภูมิพัฒนาเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้จากภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นปี พ.ศ. 2558 ที่กำกับโดยตัวเขาเอง เรื่อง ยามเมื่อแสงดับลา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความทรงจำต่อโรงภาพยนตร์สแตนอโลนในกรุงเทพฯ ที่กำลังล่มสลาย[3] โดยในเบื้องต้น วรรจธนภูมิต้องการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในรูปแบบของภาพยนตร์ทดลองขนาดสั้น ที่เล่าเรื่องโดยใช้เรื่องที่แต่งขึ้นมาจากความทรงจำเกี่ยวกับพ่อและแม่ของเขาเป็นหลัก แต่เมื่อเขาได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลตามโรงภาพยนตร์ทั่วกรุงเทพฯ เขาก็ได้พบกับสัมฤทธิ์ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่โรงภาพยนตร์ธนบุรีรามากำลังจะปิดกิจการพอดี ด้วยความสนิทสนมและความสนใจในตัวตนของสัมฤทธิ์ วรรจธนภูมิจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องของภาพยนตร์ให้กลายเป็นแบบสารคดี โดยมีสัมฤทธิ์เป็นซับเจกต์หลักของเรื่องแทน โดยใช้เวลาติดตามถ่ายทำชีวิตของสัมฤทธิ์เป็นเวลา 3 ปี และตัดต่ออีก 1 ปี[2]

สำหรับวิธีการนำเสนอภาพยนตร์เรื่องนี้ วรรจธนภูมิเลือกใช้การทดลองด้านภาพด้วยการผสมผสานระหว่างฟุตเตจภาพยนตร์เก่ากับฟุตเตจที่ถ่ายทำขึ้นมาใหม่เพื่อเล่าเรื่องและสื่อถึงความผูกพันที่บุคคลหนึ่งมีต่อภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์[3]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นิรันดร์ราตรี http://www.imdb.com/title/tt6954180/ http://variety.com/2017/film/festivals/last-men-in... http://eng.taipeiff.taipei/Program_s.aspx?FwebID=f... https://thematter.co/life/best-eyedrop_nirandratre... https://thematter.co/rave/salaya-doc-7/20324 https://www.facebook.com/SalayaDoc/photos/a.559786... https://www.facebook.com/niranrahtreemovie https://www.facebook.com/niranrahtreemovie/photos/... https://konmongnangetc.com/2017/03/27/%E0%B8%A3%E0... https://movie.mthai.com/bioscope/208277.html