ประวัติ ของ บรรหาร_ศิลปอาชา

ตามทะเบียนราษฎร บรรหารเกิดวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2475[5] แต่บางแหล่งว่าเกิดวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2475[6]

บรรหารเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เดิมมีชื่อว่า เต็กเซียง แซ่เบ๊ (馬德祥) บิดาของบรรหาร คือ เซ่งกิม แซ่เบ๊ ส่วนมารดาของบรรหาร คือ สายเอ็ง แซ่เบ๊ เป็นเจ้าของร้านสิ่งทอชื่อ ย่งหยูฮง[7] ทั้งคู่มีบุตร 6 คน ดังนี้ตามลำดับ สมบูรณ์ ศิลปอาชา, สายใจ ศิลปอาชา, อุดม ศิลปอาชา, บรรหาร ศิลปอาชา, ดรุณี วายากุล, และชุมพล ศิลปอาชา

บรรหารสมรสกับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีบุตร 3 คน

บรรหารจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่จังหวัดสุพรรณบุรี เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย แต่ต้องหยุดเรียนไป เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง หันไปทำงานกับพี่ชาย และก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นของตัวเองชื่อ บริษัท สหศรีชัยก่อสร้าง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2496 พ.ศ. 2505 ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด นทีทอง และ พ.ศ. 2508 ก่อตั้งบริษัทวารทิพย์ จำกัด[8]

ต่อมาก่อตั้งบริษัท บี.เอส.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขายเคมีภัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2513 ใน พ.ศ. 2523 ครอบครัวบรรหารได้ก่อตั้งบริษัท สหศรีชัยเคมิคอลส์ จำกัด เพื่อขายเคมีภัณฑ์ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท คอสติกไทย จำกัด บริษัททั้งหมดเป็นตัวแทนจำหน่ายคลอรีนให้แก่กรมโยธาธิการและการประปาส่วนภูมิภาคจนมีฐานะดีขึ้น

ก่อนบรรหารจะทำงานการเมือง เขาตีสนิทข้าราชการด้วยการซื้อเครื่องดื่มไปฝาก จนเป็นที่รู้จักของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อาทิ ดำรง ชลวิจารณ์ อดีตอธิบดีกรมโยธาธิการ และผู้ว่าการประปานครหลวงคนแรกของประเทศไทย[9]

เขาอาศัยความสนิทกับข้าราชการกรมโยธาธิการ[10] และการประปานครหลวง ชนะประมูลงานหลายครั้ง เนื่องจาก ดำรง ชลวิจารณ์ เป็นอธิบดีกรมโยธาธิการถึง 9 ปี และเป็นผู้ว่าการประปานครหลวงคนแรกของประเทศไทยโดยดำรงตำแหน่งระหว่าง วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2512[11]

ใน พ.ศ. 2515 เขาเป็นผู้ร่วมทุนก่อตั้ง หนังสือพิมพ์บ้านเมือง อีกด้วย[12]

ต่อมาเมื่อเป็นนักการเมืองแล้ว ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมระหว่าง วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2519 ถึงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2519 และระหว่าง วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จึงเริ่มเรียนหนังสือต่อจนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 2529 และศึกษาต่อปริญญาโทนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เขาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีฐานะร่ำรวยรองจากทักษิณ ชินวัตร หากเปรียบเทียบกับนายกรัฐมนตรี 10 คน คือ ชวน หลีกภัย, พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ, พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์, สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ทักษิณ ชินวัตร, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา[13]เขายังเป็นอาของนคร ศิลปอาชา[14] ซึ่งได้ตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2558 และได้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ตั้งแต่ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560[15]

แหล่งที่มา

WikiPedia: บรรหาร_ศิลปอาชา http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639609 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/695563 http://www.khonthai.com/Election/Result/SS/7204100... http://www.taradplaza.com/_tarad/_templates/b/_mod... http://www.thaiswatch.com/display/content.php?type... http://www.mcot.net/site/content?id=523024fd150ba0... http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1... http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/34074-... http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/7697 http://www.tdw.polsci.chula.ac.th/?q=politician/%E...