พระราชประวัติ ของ บอจด์_ข่าน

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ

บอจด์ กาเกน องค์ที่ 8 ประสูติในปีค.ศ. 1869[1] ที่ จังหวัดหลี่ถาง ภูมิภาคคาม ในครอบครัวข้าราชการชาวทิเบต[2] ในปีหลังจากบอจด์ กาเกนที่ 7 หรือ จอว์ซาน ดัมบา คูทักต์ องค์ที่ 7 สวรรคต ทำให้ทรงถูกเลือกขึ้นเป็นผูสืบทอดตำแหน่งองค์ต่อไป พระบิดาของเด็กหนุ่มคือ กอนชิกทเซเรน เป็นสมุหบัญชีในราชสำนักของทะไลลามะที่ 12 ช่วงปีแรกๆของพระชนม์ชีพ พระองค์ประทับร่วมกับพระมารดาที่ลาซาในพระราชวังโปตาลาของทะไลลามะ[3] เด็กชายได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในฐานะบอจด์ กาเกนองค์ใหม่ ที่พระราชวังโปตาลา โดยทะไลลามะที่ 13 และปันเชนลามะ[4] ในปีค.ศ. 1873-1874 มีการจัดขบวนขนาดใหญ่รวมถึงเหล่าลามะ ออกจากกรุงลาซา[5] เพื่อติดตามรับใช้องค์ตูลกู (หมายถึงเด็กชายที่ได้รับยศตำแหน่งทางศาสนา) ไปยังมองโกเลีย ในปี ค.ศ. 1875 บอดจ์ กาเกนที่ 8 มาถึงอูลานบาตาร์ เมืองหลวงของมองโกเลียส่วนนอกอย่างปลอดภัย

มีบันทึกของพยานในเหตุการณ์ ว่า

"...พระองค์ไม่ได้เป็นหุ่นเชิดของเหล่าลามะ แต่ในทางกลับกัน เหล่าลามะต่างหากที่อยู่ในกำมือของพระองค์ ในช่วงวัยเยาว์ทรงมีพระประสงค์ที่จะฟื้นฟูอาณาจักรชาวมองโกเลียอันยิ่งใหญ่ของเจงกิสข่าน หรืออย่างน้อย คือการปลดปล่อยมองโกเลียออกจากการยึดครองของชาวจีน และสร้างให้มองโกเลียพึ่งพาตนเองได้ เหล่าเจ้าขุนมูลนายในท้องถิ่นหวาดกลัวพระองค์ยิ่งนัก แต่ประชาชนชื่นชอบพระองค์... ทรงเป็นผู้ปกครององค์แรกที่เฉลียวฉลาดและเป็นอิสระ พระองค์ไม่ยอมรับอำนาจใดๆให้มามีเหนือมองโกเลีย ทั้งจากทิเบตและจีน"[6]

การเผชิญหน้ากับคณะบริหารแห่งราชวงศ์ชิงในอูการ์

เพียงเวลาห้าปีหลังจากบอจด์ กาเกนเสด็จจากทิเบตมาถึงอูการ์ (อูลานบาตาร์) ตอนนั้นมีพระชนมายุเพียง 10 ชันษา บอดจ์ กาเกนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการปกครองเมืองหลวงที่นำโดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีน ที่พยายามทำให้ประชาชนเกิดความห่างเหินต่อศาสนาและห่างเหินจากสังคมโลก กลุ่มพ่อค้าชาวจีนได้ยึดครองพระอารามตามศาสนาพุทธเป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้า ในปีค.ศ. 1882 พระองค์ได้มีสาส์นถวายรายงานต่อจักรพรรดิกวังซฺวี่แห่งราชวงศ์ชิง โดยทรงชี้แจงว่า ถ้ากลุ่มพ่อค้าชาวจีนไม่ย้ายออกไปจากอูการ์ พระองค์เองจะย้ายเมืองหลวงจากอูการ์ไปประทับที่อารามเออเดอนีซูแทน เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลชิงยินยอมตามข้อเรียกร้องและมีคำสั่งให้พวกพ่อค้าออกไปจากพระอาราม (พ่อค้าชาวรัสเซียยังคงได้รับอนุญาตให้ค้าขายในอาคารเดิมได้)[7]

บอดจ์ กาเกนทรงท้าทายรัฐบาลราชวงศ์ชิงหลายครั้ง พระองค์ซ่อนตัวพระอาจารย์ชราของพระองค์เองภายในพระราชวัง โดยปฏิเสธที่จะส่งตัวเขาไปขึ้นศาลของคณะบริหารจากราชวงศ์ชิง พระองค์ทรงประกาศต่อต้านนโยบายการขึ้นภาษีอย่างเปิดเผย โดยเป็นนโยบายของข้าราชการจากราชสำนักชิงในท้องถิ่น ที่ชื่อว่า เต๋อหลิง ทรงปฏิเสธที่จะให้เขาเข้าเฝ้า และในที่สุดพระองค์ประสบความสำเร็จในการกดดันให้เขาลาออกจากตำแหน่ง ทั้งๆที่เขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกรุงปักกิ่งอย่างแข็งขัน[8] มีหลักฐานว่าบอดจ์ กาเกนในวัยหนุ่ม ทรงได้รับการกล่าวถึงในฐานะผู้นำรุ่นใหม่ผู้ทรงอำนาจแห่งพุทธศาสนามองโกเลีย ที่พยายามรับมือกับอำนาจของรัฐบาลจักรพรรดิราชวงศ์ชิงที่เข้ามาควบคุมมากขึ้นในปี ค.ศ. 1900[9]