หลังได้รับเอกราช ของ บะซเว

หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง บะซเวได้ร่วมมือกับผู้นำสันนิบาตฯ คนอื่นกำจัดกลุ่มของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าออกไปจากพรรคได้สำเร็จ บะซเวยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นหลังการเสียชีวิตของออง ซาน เมื่อพม่าได้รับเอกราชและอู้นุเป็นนายกรัฐมนตรี บะซเวได้ผลักดันให้ลัทธิสังคมนิยมเป็นแนวทางทางเศรษฐกิจของพม่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความขัดแย้งในรัฐบาลมากขึ้นระหว่างกลุ่มของทินและอู้นุ กับกลุ่มของบะซเวและจอเญ่น

บะซเวได้เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้น ๆ ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2499 จนถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นช่วงที่อู้นุลาอุปสมบท เมื่อลาสิกขาแล้ว อู้นุจึงมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แต่ความขัดแย้งก็ยังไม่สิ้นสุด จนอู้นุตัดสินใจลาออกใน พ.ศ. 2501 และให้พลเอก เนวี่น เข้ามาเป็นรัฐบาลรักษาการ จนมีการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2503 กลุ่มของบะซเวและจอเญ่นใช้ชื่อว่าสันนิบาตเสรีชนฯ ฝ่ายมั่นคง (တည်မြဲဖဆပလ, Ti myè hpa hsa pa la) ส่วนกลุ่มของอู้นุที่เคยใช้ชื่อว่าสันนิบาตเสรีชนฯ ฝ่ายสะอาด (သန့်ရှင်းဖဆပလ, Thant shin hpa hsa pa la) ได้จัดตั้งพรรคใหม่ชื่อว่าพรรคสหภาพ (ပြည်ထောင်စုပါတီ, Pyidaungsu) พรรคของอู้นุชนะการเลือกตั้ง[1] ส่วนบะซเวและจอเญ่นไม่ได้รับเลือกตั้ง อู้นุจึงได้จัดตั้งรัฐบาลอีก แต่เพราะทหารไม่พอใจนโยบายผ่อนปรนให้ชนกลุ่มน้อย ชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธก็ไม่พอใจที่อู้นุประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้พลเอก เนวี่น ก่อการรัฐประหารในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505 บะซเวที่แม้จะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอู้นุและสนับสนุนฝ่ายทหารกลับถูกรัฐบาลทหารคุมขังอยู่จนถึง พ.ศ. 2509 จึงได้รับการปล่อยตัว และถึงแก่กรรมเมื่อ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2530 รวมอายุได้ 72 ปี