อนุสาวรีย์ ของ บางระจัน

อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรีตราประจำจังหวัดสิงห์บุรีในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 แสดงภาพอนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน

กองหัตถศิลป กรมศิลปากรเริ่มดำเนินการหล่ออนุสาวรีย์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2509 จนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยพร้อมที่จะนำไปติดตั้งได้ใน พ.ศ. 2512[2] โดยกรมศิลปากรสร้างอนุสาวรีย์ไว้ตรงกันข้ามวัดโพธิ์เก้าต้น อยู่ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรี ประมาณ 15 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-สุพรรณบุรี หมายเลข 3032 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาในวโรกาสเปิดอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2519[3] มีพระราชดำรัสไว้ว่า "วีรกรรมในครั้งนั้นเป็นของผู้ที่รักแผ่นดินไทย เป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยทั้งมวล ทั้งในอดีตและปัจจุบันมีกำลังใจและเตือนสติให้มีความสามัคคีและรักษาจิตใจให้เข้มแข็ง เพื่อรักษาประเทศไทยให้ตนเองและเพื่อความมั่นคงของแผ่นดิน....."[ต้องการอ้างอิง]

ฐานของอนุสาวรีย์มีคำจารึกไว้ว่า "สิงห์บุรีนี่นี้ นามใด สิงห์แห่งต้นตระกูลไทย แน่แท้ ต้นตระกูล ณ กาลไหน วานบอก หน่อยเพื่อน ครั้งพม่ามาล้อมแล้ ทั่วท้องบางระจัน"

จารึกอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน:

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด
ณ วันที่... เดือน... พุทธศักราช ๒๕๑๙

เมื่อเดือนสาม ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๐๘
นายจันหนวดเขี้ยว นายโชติ นายดอก นายทองแก้ว
นายทองเหม็น นายทองแสงใหญ่ นายแท่น นายเมือง
พันเรือง ขุนสรรค์ และนายอิน
ได้เป็นหัวหน้ารวบรวมชาวบ้านตั้งค่ายต่อสู้พม่าที่บ้านบางระจัน
มีพระอาจารย์ธรรมโชติเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาคมบำรุงขวัญ

ตั้งแต่เดือนสี่ ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๐๘ จนถึงเดือนเจ็ด ปีจอ พุทธศักราช ๒๓๐๙
วีรชนค่ายบางระจันได้ต่อสู้พม่าด้วยความกล้าหาญและด้วยกำลังใจอันเด็ดเดี่ยว
ยอมสละแม้เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาแผ่นดินไทย
รบชนะพม่าถึงเจ็ดครั้ง จนพม่าครั่นคร้ามฝีมือ

รัฐบาลและประชาชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นี้ขึ้น

เพื่อประกาศเกียรติคุณของวีรชนค่ายบางระจันให้ยั่งยืนชั่วกาลนาน.[2]"