การศึกษาด้านพันธุกรรม ของ บานเย็น

ในช่วงปี ค.ศ.1900 คาร์ล คอร์เรนส (Carl Correns) ใช้ต้นบานเย็นเป็นพืชต้นแบบสำหรับการศึกษาวิจัยเรื่องการถ่ายทอดพันธุกรรมทางไซโตพลาสซึม (cytoplasmic inheritance) โดยใช้ต้นบานเย็นพันธุ์ที่มีใบลายในการพิสูจน์ว่า มีปัจจัยบางอย่างที่อยู่นอกนิวเคลียสเป็นตัวกำหนดลักษณะทางกายภาพของต้นบานเย็น ด้วยกลไกที่ไม่สามารถอธิบายได้โดยทฤษฎีของเมนเดล คอร์เรนสเสนอความคิดว่าลักษณะสีของใบบานเย็นถ่ายทอดสู่รุ่นลูกจากบรรพบุรุษฝ่ายเดียว (uniparental mode of inheritance)

เมื่อทำการผสมเกสรระหว่างต้นดอกสีแดงกับต้นดอกสีขาว จะได้รุ่นลูกที่มีดอกสีชมพู ไม่ใช่สีแดง ซึ่งเป็นลักษณะที่อยู่นอกเหนือกฎยีนเด่นข่มยีนด้อยของเมนเดล (Mendel's Law of Dominance) เพราะในกรณีนี้ยีนที่ให้ดอกสีแดงกับยีนให้ดอกสีขาวมีการแสดงออกเท่ากัน จึงไม่มีลักษณะของยีนใดยีนหนึ่งแสดงออกอย่างเด่นชัดเพียงลักษณะเดียว