อิทธิพลของบาศกนิยมต่อลัทธิอื่น ของ บาศกนิยม

กลุ่มออร์ฟิสต์ (orphism) เป็นชื่อที่กีโยม อาปอลีแนร์ กวีและนักวิจารณ์ศิลปะคนสำคัญเป็นคนตั้งให้ในปี ค.ศ. 1911 อธิบายว่า "เป็นงานศิลปะทางจิตรกรรมที่ให้โครงสร้างใหม่ ๆ โดยปราศจากรายละเอียด ศิลปะแบบนี้ไม่ได้นำมาจากสิ่งที่มองเห็นด้วยตาธรรมดา แต่มีอยู่ในการสร้างสรรค์ของศิลปินและแสดงออกโดยศิลปินต่อความสมบูรณ์ของจริง" งานของกลุ่มออร์ฟิสต์ก็คือบาศกนิยมในรูปลักษณะหนึ่งที่ได้พัฒนาขึ้นอีกขั้น เป็นงานที่มีหลักการอยู่บนพื้นฐานของการใช้สีอันงดงาม แสดงออกถึงการเกี่ยวพันกันระหว่างสีกับรูปทรง จิตรกรที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้นำในกลุ่มนี้คือ รอแบร์ เดอโลแน (Robert Delaunay) ผลงานส่วนมากจะเป็นเรื่องของปริมาตรกับสี เขาชอบแสดงผลของอารมณ์ต่อสีที่บริสุทธิ์สดใสซึ่งเกิดจากการเคยฝึกฝนตามแนวคิดของลัทธิประทับใจมาก่อน แต่พอปี ค.ศ. 1911 ก็ได้มีการนำความคิดของบาศกนิยมมาปรับใช้ เขาจัดแสดงงานร่วมกลับกลุ่มจิตรกรอิสระในห้องแสดงของพวกบาศกนิยม อาปอลีแนร์ได้กล่าวถึงผลงานของเขาระยะนั้นว่า "มีคุณค่าของสีที่ให้ความรู้สึกร่าเริงดุจดนตรีอันบริสุทธิ์" ระหว่างปี ค.ศ. 1910-1912 เดอโลแนได้วาดภาพชุดกรุงปารีสและหอไอเฟลไว้หลายภาพ ภาพชุดนี้มีรูปแบบวิธีการสังเคราะห์เรื่องรูปทรงเช่นเดียวกับบาศกนิยม ต่างกันตรงที่ผลงานของเดอโลแนเต็มไปด้วยแสงสีอันสดใส แลดูมีความเคลื่อนไหว อันได้รับอิทธิพลบางประการของพวกอนาคตนิยมเข้าผสมด้วย และต่อมาแนวคิดนี้ได้ผ่านเข้าไปในความคิดของวาซีลี คันดินสกี และกลายเป็นต้นกำเนิดอย่างหนึ่งในหลายสาเหตุของการเกิดลัทธิศิลปะนามธรรม ซึ่งกฎเกณฑ์นี้คือ การใช้แสงอาทิตย์ผสมกับรูปทรงในทรรศนะของบาศกนิยม