สถาปัตยกรรม ของ บ้านพิบูลธรรม

ปัจจุบัน ภายในบ้านพิบูลธรรมมีอาคารเก่าแต่แรกสร้างซึ่งมีความงดงามทั้งด้านสถาปัตยกรรมและ ศิลปกรรมอยู่ 2 หลัง และศาลาไม้อีกหลังหนึ่ง คือ อาคารสำนักงานเลขานุการกรมซึ่งอยู่หลังหน้า และอาคาร กองควบคุมและส่งเสริมพลังงานตั้งเยื้องไปด้านหลัง ส่วนศาลาไม้อยู่ด้านขวาของอาคารสำนักเลขานุการกรมและด้านหน้าของอาคารกองควบคุมและส่งเสริมพลังงาน

อาคารทั้งสองหลังสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรปที่นิยมในยุคนั้น ลักษณะเหมือนปราสาท เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงตามปีกอาคารสองข้าง และมีส่วนโค้งส่วนหักมุมและเฉลียงต่างกันแต่ได้สัดส่วนกลมกลืน ประดับลายปูนปั้นตามผนังตอนบน หัวเสา ขอบหน้าต่าง และลูกกรงระเบียง ประตูหน้าต่างไม้สลักลาย มีรูปประติมากรรมหน้าวัวหรือพระโคนนทีติดอยู่ที่เหนือประตู เฉลียงที่มุมขวาของตึกหน้า และที่ผนังข้างประตูหน้าและเหนือประตูเฉลียงข้างของตึกหลังมีสะพานคอนกรีตเชื่อมชั้น 2 ของอาคารทั้ง 2 หลัง

อาคารทั้งสองหลังตกแต่งภายในอย่างวิจิตรด้วยลายไม้แกะสลักตามเพดานและผนังห้อง ประตู และหน้าต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารในซึ่งตอนหน้าส่วนกลางก่อเป็นห้องชั้นที่ 3 อีกห้องหนึ่งนั้น ด้านหลังเป็นอาคารชั้นเดียว จัดเป็นห้องโถงเอกของบ้าน โดยโถงหน้าเป็นทางเชื่อมจากส่วนหน้าของอาคารสู่โถงในซึ่งมีปีกเป็นรูปโค้งมน รูปทรงของห้องโถงนี้จึงเหมือนตัว T แต่มุมหักมน นับเป็นความงามเยี่ยมทางสถาปัตยกรรม ภายในห้องโถงนี้กึ่งกลางเพดานประดับภาพจิตรกรรมแบบตะวันตกเรื่องรามเกียรติ์ โถงนอกรูปรามสูรเมขลา โถงในรูปทศกัณฐ์ลักนางสีดากำลังต่อสู้กับนกสดายุ เพดานรอบๆ ภาพเขียนประดับด้วยหูช้างไม้สลักเรียงรายตลอด ถัดลงมาเป็นภาพจิตรกรรมเถาไม้ดอกสีสดสวย ผนังจากระดับขอบประตูบนลงมาประดับไม้สลักลาย ตามขอบสลักลายเถาผลไม้ เสาไม้กลมตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมสลักลาย พื้นปูหินอ่อน ห้องโถงนี้ปัจจุบันใช้เป็นห้องเลียงรับรอง ห้องด้านหน้าทางปีกซ้ายของอาคารหลังนี้ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นห้องทำงาน มีภาพจิตรกรรมแบบเดียวกันประดับที่ฝาผนังด้านขวา จับภาพตอนพระรามตามกวาง ส่าวนเพดานห้องเขียนรูปหมู่กามเทพเด็กแบบฝรั่ง เป็นภาพ fresco เขียนโดยชาวอิตาลีชื่อ Carlo Rigoli

ศาลาไม้ เป็นศาลาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าประดับไม้สลักตามพนักระเบียงเสา และหูช้างรับกับตัวอาคารทั้งสองหลัง พื้นปูนหินอ่อน หลังคามุงกระเบื้องว่าว

อาคารเหล่านี้ได้รับการซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย และทาสีใหม่ สภาพอาคารหลังใหญ่ค่อนข้างชำรุดทรุดโทรม มีรอยร้าวในบางแห่งกรมศิลปากรได้ตรวจสภาพภาพจิตรกรรมแล้วขอให้สำนักงานพลังงานแห่งชาติซ่อมหลังคาแล้วทิ้งไว้ 2-3 ปีเพื่อให้ความชื้นภายในแห้งก่อนจึงจะดำเนินการซ่อมแซมภาพจิตรกรรม ซึ่งสำนักงานพลังงานแห่งชาติได้เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาเป็นกระเบื้องลอน และจะได้ดำเนินการของบประมาณซ่อมแซมภาพจิตรกรรมต่อไป

แหล่งที่มา

WikiPedia: บ้านพิบูลธรรม http://maps.google.com/maps?ll=13.7497077,100.5179... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7497... http://www.pangmalakul.com/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=13.7497077&long=100... http://www.wikimapia.org/maps?ll=13.7497077,100.51... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.dede.go.th/dede/index.php?id=89