ปฏิทินไทย ของ ปฏิทิน

ดูบทความหลักที่ ปฏิทินไทย

ในอดีตประเทศไทยใช้ปฏิทินจันทรคติตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยนับปีตามปีมหาศักราชและจุลศักราชตามลำดับ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติ ในปีจุลศักราช 1240 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2431 โดยใช้แบบสากลตามปฏิทินเกรกอเรียน โดยเดือนแรกของปีคือเดือนเมษายน และเดือนสุดท้ายของปีคือมีนาคม และปรับมาใช้รัตนโกสินทรศก และพุทธศักราชตามลำดับจนกระทั่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้งโดยปรับให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นวันเริ่มต้นของปีแทนที่รูปแบบเดิม โดยวันขึ้นปีใหม่ในรูปแบบนี้เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2484

การพิมพ์ปฏิทินมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 (ปลายสมัย รัชกาลที่ 3) ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงฯโปรดให้พิมพ์ปฏิทินภาษาไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปฏิทินที่พิมพ์ในเมืองไทยได้แก่ "ประนินทิน" แจ้งราคาขายไว้เล่มละ 4 บาท การพิมพ์ปฏิทินเล่มยังมีการจัดทำต่อมา ในหลายรูปแบบ ซึ่งมีบอกสถาพของน้ำขึ้น-น้ำลง ดิถีดวงจันทร์ และปฏิทินภาษาจีนร่วมด้วย และมีช่องว่างให้บันทึกเล็กน้อย ในรูปแบบของ ไดอารี่ หรือ "สมุดบันทึกประจำวัน" ก็สามารถอนุโลมให้เป็นปฏิทินได้ โดยไดอารี่ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ไดอารี่ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อตีพิมพ์เผยแพร่มีชื่อเรียกว่า "จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน"