แรงจูงใจในการสร้าง ของ ปฏิทินจูเลียน

รอบปีธรรมดาของปฏิทินโรมันที่ใช้กันมาก่อนนี้ ประกอบด้วยเดือน 12 เดือน ซึ่งมีจำนวนวันรวมเป็น 355 วัน นอกจากนี้บางปีก็มีเดือน Mercedonius ซึ่งมี 27 วันเข้ามาแทรกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์กับเดือนมีนาคม เดือนที่แทรกเข้ามานี้เกิดจากการแทรกจำนวนวัน 22 วันหลังจากวันที่ 23 หรือ 24 ของเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนอีก 5 วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ (ซึ่งนับถอยหลังสู่เดือนมีนาคม) ก็กลายเป็น 5 วันของเดือนที่แทรกนี้ ผลสุทธิของการแทรกเดือนนี้ทำให้มี 22 หรือ 23 วันเพิ่มขึ้นในปีนั้น และส่งผลรวมให้ปีนั้นมี 377 หรือ 378 วัน [3]

ผลงานของนักเขียนรุ่นหลัง Censorinus กับ Macrobius กล่าวว่า วัฏจักรของการแทรกเดือนในอุดมคติ ควรประกอบด้วยรอบปีธรรมดา 355 วัน สลับกับรอบปีแทรกเดือน 377 หรือ 378 วันที่สลับกันอีกด้วย ดังนั้นรอบปีโดยเฉลี่ยต่อสี่ปีของปฏิทินโรมันในระบบนี้จะเป็น 366¼ วัน ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนโดยเฉลี่ยหนึ่งวันต่อปีเมื่อเทียบกับอายันหรือวิษุวัตใด ๆ Macrobius ยังอธิบายการปรับวันเพิ่มเติมด้วยว่า ระยะ 8 ปีสุดท้ายในรอบ 24 ปี ควรมีรอบปีแทรกเดือนเพียงสามครั้ง แต่ละครั้งมี 377 วัน หลังจากการปรับวันแล้วจะทำให้รอบปีโดยเฉลี่ยต่อยี่สิบสี่ปีเท่ากับ 365¼ วัน การแทรกเดือนในทางปฏิบัติไม่เป็นไปตามทฤษฎีในอุดมคติดังที่กล่าวมา แต่ถูกพิจารณาโดยปุโรหิตสูงสุด (Pontifex Maximus) จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า การพิจารณาแทรกเดือนของปุโรหิตสูงสุดมิได้ใกล้เคียงทฤษฎีในอุดมคติเลย พวกเขามักจะแทรกเดือนทุกสองหรือสามปี แต่บางครั้งก็ไม่แทรกเดือนเลยเป็นเวลานาน และในบางโอกาสก็แทรกเดือนในสองปีติดกันด้วย

ถ้ามีการจัดการอย่างถูกต้อง ระบบนี้จะทำให้รอบปีโดยเฉลี่ยของโรมันตรงกับปีที่นับตามสุริยคติอย่างหยาบ ๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปุโรหิตสูงสุดมักจะเป็นนักการเมือง และเนื่องจากระยะเวลาดำรงตำแหน่งนักปกครองของโรมันอ้างอิงตามปีปฏิทิน อำนาจเช่นนี้มีแนวโน้มว่าจะถูกใช้ในทางที่ผิด กล่าวคือ ปุโรหิตสูงสุดสามารถขยายรอบปีให้ยาวขึ้น เพื่อให้เขาและพันธมิตรสามารถดำรงตำแหน่งนานขึ้น หรือสามารถปฏิเสธการขยายรอบปีเพื่อกำจัดปรปักษ์มิให้อยู่ในตำแหน่ง [4]

หากการแทรกเดือนถูกละเลยมากครั้งเกินไป ดังเช่นที่ปรากฏหลังจากสงครามพิวนิกครั้งที่สองและระหว่างสงครามกลางเมืองในโรมัน ปฏิทินจะเบี่ยงเบนออกจากปีที่นับตามสุริยคติอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านี้ การแทรกเดือนมักจะถูกพิจารณาค่อนข้างล่าช้า ทำให้ประชาชนชาวโรมันโดยทั่วไปไม่ทราบวันที่ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ด้วยสาเหตุดังกล่าวทำให้หลายปีก่อนเกิดปฏิทินจูเลียนถูกเรียกว่า "ปีแห่งความสับสน" (years of confusion) ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้รุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงที่จูเลียส ซีซาร์ครองโรมก่อนมีการปฏิรูป เมื่อ 63–46 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีการแทรกเดือนเพียงห้าครั้งและไม่มีอีกเลยในห้าปีสุดท้าย แทนที่ควรจะมีแปดครั้ง

เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างถาวร จูเลียส ซีซาร์ จึงบัญชาให้มีการปฏิรูปปฏิทิน โดยการสร้างปฏิทินขึ้นจากวิถีโคจรของดวงอาทิตย์โดยปราศจากการแทรกแซงจากมนุษย์ คุณลักษณะดังกล่าวก็ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นประโยชน์ในเวลาไม่นานหลังจากปฏิทินใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ ต่อมา 37 ปีก่อนคริสต์ศักราช Varro ใช้ปฏิทินนี้เพื่อกำหนดวันที่เริ่มต้นของฤดูกาลทั้งสี่ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้เลยเฉพาะเมื่อ 8 ปีก่อน [5] หลังจากหนึ่งศตวรรษผ่านไป Pliny ระบุว่าเหมายันตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม เพราะว่าดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งองศาที่แปดของราศีมกรในวันนั้น [6] (ในวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน เหมายันไม่ใช่วันดังกล่าว)