รายละเอียดของประตูเมือง ของ ประตูเมืองนครราชสีมา

ประตู และกำแพงเมือง ก่อนได้รับการบูรณะ

ประตูชุมพล

ประตูเมืองทางทิศตะวันตกของเขตเมืองเก่า เป็นประตูเมืองเพียงแห่งเดียว ในบรรดาประตูเมืองทั้งหมด 4 ประตูของเมืองนครราชสีมา ที่ยังคงสภาพเดิมอยู่พร้อมกำแพงเมืองเก่า สำหรับ ชื่อประตู "ชุมพล" นั้นหมายความถึง ที่ชุมนุมพลส่วนใหญ่ เป็นประตูสำหรับเตรียมไพร่พล และออกศึก เนื่องจากมีภูมิประเทศเปิดกว้าง ไม่มีป้อมปราการตามธรรมชาติเหมือนประตูอื่น ๆ [2] ในอดีตมีความเชื่อว่า เมื่อลอดผ่านประตูชุมพลไปทำศึกแล้ว จะแคล้วคลาดได้กลับบ้านเมือง

เนื่องจากตัวเมืองปัจจุบัน ได้มีขยายออกไปยังบริเวณรอบนอกไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกของเขตเมืองเก่าเดิม ส่งผลทำให้ปัจจุบัน ประตูชุมพลจึงเสมือนตั้งอยู่กลางเมือง ต่อมาทางหน่วยราชการของจังหวัดนครราชสีมาได้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม) แล้วนำมาประดิษฐานบนแท่นสูง ตรงบริเวณหน้าประตูชุมพล ซึ่งได้มีการถมคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกบางส่วน เพื่อทำเป็นพื้นที่ก่อสร้าง สำหรับ หอ ยามรักษาการณ์ทรงไทย, ประตูเมือง และกำแพงเมืองโบราณที่ชำรุดทรุดโทรมพังลงไปมากนั้น ทางราชการได้บูรณะซ่อมแซม และสร้างขึ้นมาใหม่บางส่วน โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบและศิลปะการก่อสร้างตามของเดิมไว้ทั้งหมด พร้อมกับได้อัญเชิญ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ทั้งหมดมาสร้างและตั้งขึ้น ณ บริเวณที่ปัจจุบัน ตราบเท่าทุกวันนี้

อนึ่ง ประตูชุมพล ทางกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480[3]และ กำแพงเมืองโคราช ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479[4]

  • ประตูชุมพล ก่อนการบูรณะ
  • ประตูชุมพลในปัจจุบัน
  • ประตูชุมพลในปัจจุบัน
  • ประตูชุมพลในปัจจุบัน

ประตูพลแสน

ประตูเมืองทางทิศเหนือ เรียกกันทั่วไปว่า "ประตูน้ำ" เป็นเพราะประตูนี้หันหน้าสู่ ลำตะคอง ซึ่งเป็นคลองกั้นคูเมืองอีกชั้นหนึ่ง เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ในอดีตจะใช้ลำตะคองในการชลประทาน และเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ สำหรับชื่อประตู "พลแสน" นั้นหมายถึง ถึงจะยกทัพมาสักแสน ก็ยังต่อสู้ได้[2]

  • ประตูพลแสน ในปี ค.ศ. 1893
  • ประตูพลแสนในปัจจุบัน

ประตูไชยณรงค์

ประตูเมืองทางทิศใต้ ชาวเมืองเรียกประตูนี้ว่า "ประตูผี" เนื่องจากในอดีต มีประเพณีความเชื่อว่า เมื่อมีคนตายขึ้นในเมือง ห้ามมีการเผา หรือฝังเอาไว้ในเมือง ให้ออกไปจัดการกันที่นอกเมือง โดยให้นำศพผ่านออกทางประตูนี้เพียงประตูเดียว นอกจากนั้นแล้ว ทางทิศใต้นี้ยังมีบึงใหญ่ มีชื่อเรียกว่า "หนองบัว" สำหรับชื่อประตู "ไชยณรงค์" นั้น เนื่องมาจาก เมื่อยามเกิดศึกสงคราม ประตูนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ยากต่อการโจมตีของข้าศึก เพราะภูมิประเทศด้านนี้ เต็มไปด้วยหนองน้ำขนาดใหญ่ และเล็ก แต่ในปัจจุบัน หนองน้ำเหล่านั้นได้ถูกถมไปหมดแล้ว[2]

  • ประตูไชยณรงค์ในปัจจุบัน

ประตูพลล้าน

ประตูเมืองทางทิศตะวันออก ชาวเมืองเรียกประตูนี้ว่า "ประตูตะวันออก" หรือ "ประตูทุ่งสว่าง" แต่เดิม ทิศนี้มีบึงใหญ่ที่เรียกว่า "บึงทะเลหญ้าขวาง" มีพื้นที่กว้างไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร ส่วนกลางเป็นบึงใหญ่ และมีพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์พาหนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "วัดทุ่งสว่าง" สำหรับชื่อประตู "พลล้าน" นั้น นัยว่าเพื่อเป็นการข่มขวัญข้าศึก ที่ถึงจะยกทัพมาสักล้าน ก็ยังต่อสู้ได้[2]

  • ประตูพลล้านในปัจจุบัน
  • ประตูพลล้านในปัจจุบัน

ความเปลี่ยนแปลง

ในปัจจุบัน ประตูเมือง 3 ประตู ได้แก่ ประตูพลแสน, ประตูพลล้าน และประตูไชยณรงค์ ได้มีการบูรณะ และ ก่อสร้างใหม่ โดยทำการรื้อถอนประตูเมืองและกำแพงเมืองเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ในลักษณะของซุ้มประตูทั้ง 3 นั้น ได้ออกแบบลักษณะเป็นศิลปะร่วมสมัย โดยยึดเค้าโครงเดิมของประตูเมือง และกำแพงเมืองแบบเดิม ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ก่อสร้างซุ้มประตูใหม่นั้น พื้นที่ตัวเมืองมีการขยายเพิ่มขึ้น และได้มีการขยายถนนออกไปทางประตูเมืองทั้ง 3 จากเดิมในอดีตมาก จึงทำให้การออกแบบซุ้มประตูมีความกว้างเพื่อรองรับกับการจราจรและรถยนต์ที่สัญจรเข้าออกผ่านซุ้มประตูเมืองทั้ง 3 เป็นอย่างดี