เศรษฐกิจ ของ ประเทศลักเซมเบิร์ก

  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 34.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว 68,800 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
  • อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 5.7% (ปี 2549)
  • อัตราเงินเฟ้อ 2.6% (ปี 2549)
  • อัตราการว่างงาน 3.6% (ปี 2546)
  • มูลค่าการส่งออก ประมาณ 9.052 พันล้านยูโร (ปี 2546)
  • มูลค่าการนำเข้า 12.060 พันล้านยูโร (ปี 2546)
  • สินค้าส่งออกที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่โลหะ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ เคมีภัณฑ์
  • สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์ อุปกรณ์การขนส่ง ผลิตภัณฑ์โลหะ อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ เคมีภัณฑ์
  • ประเทศคู่ค้าสำคัญ เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส จีน เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย

ภาคการบริการเป็นสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของลักเซมเบิร์ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาการเงินการธนาคาร โดยลักเซมเบิร์กมีกฎหมายด้านการเงินที่ดึงดูดนักลงทุน ทำให้ลักเซมเบิร์กกลายเป็นศูนย์กลางด้านกองทุนลงทุนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น โดยจะเห็นได้จากการที่ในปี 2543 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลักเซมเบิร์กมาจากภาคบริการถึงร้อยละ 69 (ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 30 และภาคการเกษตร ร้อยละ 1) และมีแรงงานถึงร้อยละ 90 ของแรงงานทั้งหมดทำงานในภาคบริการ (ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 8 และภาคการเกษตร ร้อยละ 2)

เศรษฐกิจการค้า

สภาวะเศรษฐกิจ ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่นคง อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานต่ำ ภาคอุตสาหกรรมซึ่งในอดีตเหล็กกล้าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุด แต่ปัจจุบันได้มีอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยาง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ การเจริญเติบโตทางภาคการเงิน ซึ่งอัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP คิดเป็นร้อยละ 22 ส่วนใหญ่นำไปชดเชยให้กับอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ธนาคารส่วนใหญ่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ ภาคเกษตรกรรมมีลักษณะเป็นไร่ขนาดเล็ก แรงงานต่างชาติหรือแรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญมากในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของแรงงานทั้งหมด ถึงแม้ว่าลักเซมเบิร์กจะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาเหมือนเช่นประเทศอื่น ๆ แต่ก็ยังสามารถรักษาให้อัตราการเจริญเติบโตยังเข้มแข็งต่อไปได้

สหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลักเซมเบิร์ก เบลเยียมและลักเซมเบิร์กได้จัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลักเซมเบิร์ก (Belgium-Luxembourg Economic Union - BLEU) ระหว่างกันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2464 ซึ่งทำให้การเก็บสถิติการค้าและการลงทุนมักจะเป็นไปบนพื้นฐานของตัวเลขของทั้งสองประเทศรวมกัน นอกจากนี้ มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของทั้งสองประเทศไว้ที่อัตราส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง (one-to-one parity) สหภาพเศรษฐกิจเบลโก- ลักเซมเบิร์กมีลักษณะสำคัญ ดังนี้1. จัดระบบการค้าเสรีระหว่างกัน 2. มีการประสานนโยบายในด้านเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม รวมทั้ง ปรับกฎหมายภายในประเทศทั้งสองให้สอดคล้องกัน 3. ธนาคารแห่งประเทศเบลเยี่ยมจะทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของ ทั้งสองประเทศ 4. ใช้กฎหมายด้านการปริวรรตเงินตราต่างประเทศแบบเดียวกัน 5. มีการจำกัดปริมาณเงินฟรังค์ลักเซมเบิร์ก โดยกำหนดปริมาณเป็นระยะ ๆ ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เงินฟรังค์ของทั้งสองประเทศมีค่าเท่ากัน 6. เบลเยีมจะมีบทบาทนำด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากลักเซมเบิร์กมี GDPประมาณร้อยละ 4.5 ของ GDP เบลเยียม และลักเซมเบิร์กได้เน้นภาคบริการโดยเฉพาะเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการธนาคาร โดยมีนโยบายด้านการเงินที่เสรี และอัตราภาษีเงินได้ที่ต่ำ