เศรษฐกิจ ของ ประเทศลีชเทินชไตน์

ใจกลางเมืองวาดุซ เมืองหลวงของประเทศ

แต่ก่อนอาชีพหลักของชาวลีชเทินชไตน์คือเกษตรกรรม แต่เปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ ค.ศ. 1945 รายได้หลักของประเทศคือการท่องเที่ยวและการจำหน่ายดวงตราไปรษณียากร ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของลีชเทินชไตน์มาจากภาคอุตสาหกรรม 40% ซึ่งประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตโลหะ สิ่งทอ เซรามิก เวชภัณฑ์ อาหาร และการท่องเที่ยว ภาคการเงินการธนาคาร 30% ภาคการบริการ การท่องเที่ยว 25% และภาคการเกษตร 5% ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการเกษตรได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด มันฝรั่ง ปศุสัตว์ นม เนย

แรงงานส่วนใหญ่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม การค้า และการก่อสร้าง จำนวนแรงงานที่สำรวจในปี ค.ศ. 2014 มีทั้งสิ้น 18,614 คน ในจำนวนนี้ 6,877 คน (37%) อาศัยในประเทศออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี และเดินทางไป - กลับข้ามประเทศทุกวัน[5]

สินค้าส่งออกของลีชเทินชไตน์คือ เครื่องจักรขนาดเล็กและเครื่องจักรที่สั่งทำพิเศษ เครื่องมือด้านทันตกรรม แสตมป์ เครื่องใช้โลหะ เครื่องปั้นดินเผา ส่วนสินค้านำเข้าคือ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะ สิ่งทอ อาหาร และรถยนต์ กลุ่มประเทศคู่ค้าหลักคือสหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกเอฟตา และสวิตเซอร์แลนด์

สวนไวน์ใกล้เมืองวาดุซ

ในประเทศลีชเทินชไตน์มีการเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ สำหรับบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่จะมีช่วงปลอดภาษี ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ ภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์ เก็บในอัตรา 0.2 - 0.9% ภาษีเงินได้อัตรา 4 - 18% สำหรับบริษัทถือหุ้น (holding company) ที่มีถิ่นที่อยู่ในลีชเทินชไตน์ได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเสียภาษี ลีชเทินชไตน์จึงเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนนอกประเทศที่สำคัญของยุโรป

การทำไวน์เป็นสิ่งที่ชาวลีชเทินชไตน์ภาคภูมิใจ แม้จะมีพื้นที่เพาะปลูกน้อย (เพียง 54 เอเคอร์) แต่พื้นที่เพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ และภูมิอากาศที่มีแสงแดดปีละ 1,500 ชั่วโมง ประกอบกับมีโรงงานผลิตไวน์ที่ทันสมัย ทำให้ไวน์ของลีชเทินชไตน์มีคุณภาพใกล้เคียงกับไวน์สวิส ปัจจุบันไวน์ของลีชเทินชไตน์ที่ผลิตได้จะจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ยี่ห้อที่ขึ้นชื่อคือ ซุสส์ดรุก (Sussdruck) มีสีอิฐแดง และ เบียร์ลิ (Beerli) มีสีแดงเข้ม การโฆษณาเน้นให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูก การเก็บ และการกลั่น โดยสามารถหาดื่มได้ตามร้านอาหารทั่วไป

ในนโยบายด้านเศรษฐกิจ ลีชเทินชไตน์มีความร่วมมือใกล้ชิดกับสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นสมาชิกกลุ่มเอฟตา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 มีส่วนร่วมในความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับยุโรป และเป็นภาคีความตกลงเขตเศรษฐกิจยุโรป ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1995 หลังปี ค.ศ. 1945 ได้เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมเป็นการท่องเที่ยว ภาคบริการทางการเงิน และอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก คือ อุตสาหกรรมผลิตเครี่องจักรกล สิ่งทอ เซรามิค ผลิตภัณฑ์ เคมีและยา อิเล็คโทรนิคส์ อาหารกระป๋อง

ข้อพิพาทระหว่างประเทศ ลีชเทินชไตน์อ้างสิทธิในดินแดนของสาธารณรัฐเช็ก 620 ตารางไมล์ ซึ่งเช็กริบมาจากราชวงศ์ลีชเทินชไตน์ในปี ค.ศ. 1918 แต่ฝ่ายเช็กไม่ยอมรับการอ้างสิทธิดังกล่าว โดยถือว่าการเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนใด ๆ จะต้องไม่ย้อนหลังเกินกว่าเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1948 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นครองอำนาจ[ต้องการอ้างอิง]