การเมือง ของ ประเทศอิเควทอเรียลกินี

การเมืองการปกครอง ประวัติศาสตร์โดยสังเขปอิเควทอเรียลกินีเคยอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส และตกเป็นอาณานิคมของสเปนเป็นเวลาถึง 190 ปี ตั้งแต่ปี 2321 จนได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2511 โดยมีนาย Macias Nguema ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกและเป็นผู้สถาปนาระบบการปกครองแบบพรรคเดียวในปี 2513ภายใต้ระบบการปกครองเผด็จการของประธานาธิบดี ประชาชนกว่า 1 ใน 3 ของประเทศถูกสังหารหรือหนีออกนอกประเทศ จนเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2515 นาย Macias Nguema ได้สถาปนาตนเองเป็นประธานาธิบดีตลอดกาล (President-for-Life) แต่ต่อมา ได้ถูกโค่นล้มโดยรัฐประหารในเดือนสิงหาคม 2522 ภายใต้การนำของพันเอก Teodoro Obiang Nguema Mbasogo รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหลานชายของนาย Macias Nguema จากนั้น คณะนายทหารจึงเป็นองค์กรทางการเมืองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารปกครองประเทศรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 12 ตุลาคม 2525 เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งพรรคฝ่ายค้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากนั้น ในปี 2534 ประธานาธิบดี Obiang ได้สถาปนาระบบการเมืองหลายพรรคขึ้น โดยจัดให้มีการเลือกตั้งแบบหลายพรรคขึ้นครั้งแรกในปี 2539 อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว พรรค Partido Democrático de Guinea Ecuatorial (PDGE) ของนาย Obiang ยังคงเป็นพรรคการเมืองที่ถือครองเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว และมักมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการจำกัดคู่แข่งทางการเมืองและความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้งเสมอ ๆ

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน


1.การเมืองการปกครอง

1.1 อิเควทอเรียลกินีมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับความเห็นชอบโดยการลงประชามติ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 และแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อเดือนมกราคม 2538 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค และนำไปสู่การจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎร

1.2 ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 7 ปี มีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบริหารประเทศ คนปัจจุบันคือ นาย Teodoro Obiang Nguema Mbasogo ดำรงตำแหน่งเป็นเวลายาวนานถึง 30 ปีแล้ว และคาดว่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม 2552

1.3 สภาผู้แทนราษฎร (Cámara de Representantes del Pueblo) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ฝ่ายตุลาการ ประกอบไปด้วยศาลสูง (Supreme Tribunal) และศาลอื่น ๆ อีก 3 ประเภท คือ ศาลแพ่ง ศาลอาญาและศาลปกครอง

1.4 ประธานาธิบดี Obiang ได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2551 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ซึ่งพรรค PDGE ของประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งเข้าสภาถึง 99 ที่นั่ง นายกรัฐมนตรี Ignacio Milan Tang เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 มีรองนายกรัฐมนตรี 3 ตำแหน่ง และคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยสมาชิก 42 คน

1.5 เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศที่มีประธานาธิบดีทำหน้าที่บริหารประเทศมาเป็นระยะเวลานาน นโยบายของรัฐบาลอิเควทอเรียลกินีจึงมิได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงที่ผ่านมา โดยยังคงให้ความสำคัญกับการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการกระจายรายได้เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศ

2. เศรษฐกิจ

2.1 การค้นพบแหล่งสำรองน้ำมันขนาดใหญ่และมีการนำมาใช้ประโยชน์ได้ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอิเควทอเรียลกินีอย่างมาก ในปัจจุบัน อิเควทอเรียลกินีมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีอัตราปริมาณการผลิตน้ำมันประมาณ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน รายได้จากภาคอุตสาหกรรมน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนถึง 82% ของ GDP ในปี 2550 โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (30% ของการส่งออกน้ำมันในปี 2551) ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจของประเทศจึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ

2.2 ภาคเกษตรกรรมซึ่งเคยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจก่อนการค้นพบแหล่งสำรองน้ำมันขนาดใหญ่ในช่วงปี 2533-2535 ทำรายได้ให้ประเทศน้อยกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ รัฐบาลอิเควทอเรียลกินีใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมเพื่อลดการพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกน้ำมัน โดยมีนโยบายให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือบริษัทผู้ประกอบการต่าง ๆ ในประเทศในการลงทุนทางการเกษตร เนื่องจากปัจจุบัน อิเควทอเรียลกินีต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเพื่อใช้ในการบริโภคในประเทศ

2.3 นับตั้งแต่ปี 2536 ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ยุติโครงการให้ความช่วยเหลือแก่อิเควทอเรียลกินีหลายโครงการ เนื่องจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาล

2.4 นโยบายการเงินของอิเควทอเรียลกินีถูกกำหนดโดยธนาคารแห่งรัฐในภูมิภาคแอฟริกากลาง (Banque des Etats de l’Afrique centrale หรือ BEAC) ซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญกับการคุมระดับอัตราเงินเฟ้อและรักษาการตรึงค่าเงิน CFA franc ไว้กับเงินสกุลยูโร (655.96 CFAfr เท่ากับ 1 ยูโร)

2.5 สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลอิเควทอเรียลกินีพยายามแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับโดยการเพิ่มกำลังการผลิตและพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ ในปี 2551 อัตราการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 20% ตามรายงานของบริษัท SEGESA ซึ่งดูแลการผลิตพลังงานไฟฟ้าในประเทศ สำหรับภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างแม้ว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ แต่ก็ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เนื่องจากภาครัฐมีโครงการพัฒนากรุงมาลาโบ ทั้งโครงการก่อสร้างอาคารเคหะสถานในกรุงมาลาโบ และการเชื่อมโยงเครือข่ายถนนต่าง ๆ

2.6 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของอิเควทอเรียลกินี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สเปน ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยตลาดสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 24.3%) สเปน (19.5%) จีน (16.3%) และฝรั่งเศส (8.5%) ในขณะที่อิเควทอเรียลนำเข้าสินค้าจากตลาดหลากหลาย

3. นโยบายต่างประเทศ

3.1 อิเควทอเรียลกินีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสเปนทั้งทางด้านการค้า ภาษา และประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การที่สเปนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิเควทอเรียลกินีในเรื่องสิทธิมนุษยชนในระยะหลังได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในระดับหนึ่ง

3.2 ที่ผ่านมา รัฐบาลของประธานาธิบดี Obiang ได้พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับฝรั่งเศส และเข้าร่วมในเขตเศรษฐกิจที่ใช้เงินฟรังก์ (Franc Zone) และกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (Francophonie) ในปี 2528 ทั้งยังได้กำหนดให้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการของประเทศในปี 2541

3.3 อิเควทอเรียลกินีมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับไนจีเรียและแองโกลาซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในด้านความมั่นคงในภูมิภาค ล่าสุดในเดือนกันยายน 2552 ได้มีการฝึกปฏิบัติการป้องกันน่านน้ำร่วมกันระหว่างอิเควทอเรียลกินี กาบอง แคเมอรูนและเซาตูเมและปรินซิปี อย่างไรก็ตาม อิเควทอเรียลกินียังมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับกาบอง และการแบ่งเขตแดนทางทะเลกับไนจีเรียในบริเวณที่เป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมัน

3.4 อิเควทอเรียลกินีและแคเมอรูนมีความขัดแย้งกันในเรื่องเขตแดน และแม้ว่าทั้งสองประเทศจะสามารถเจรจากันในเรื่องการกำหนดเขตแดนทางทะเลร่วมกันไปแล้ว แต่ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศได้กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อมีข่าวการปฏิบัติโดยมิชอบต่อชาวแคเมอรูนในอิเควทอเรียลกินี ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนสูงและมักเป็นสาเหตุของความตึงเครียดในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ดี อิเควทอเรียลกินีและแคเมอรูนมีนโยบายที่สอดคล้องกันในด้านอุตสาหกรรมพลังงานและการส่งเสริมการรวมกลุ่มในภูมิภาค

3.5 ทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของอิเควทอเรียลกินีเป็นสิ่งดึงดูดให้นานาประเทศสนใจส่งเสริมความสัมพันธ์กับอิเควทอเรียลกินี เช่นเดียวกับในประเทศแอฟริกันอื่น ๆ จีนได้เข้ามาบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นในอิเควทอเรียลกินี ในขณะที่บริษัทอเมริกันยังคงเป็นผู้ลงทุนหลักในอุตสาหกรรมไฮโดรคาร์บอนของประเทศ

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศหลังจากที่นาย Obiang ยึดอำนาจไว้ได้ในปี 2522 อิเควทอเรียลกินีได้ดำเนินการปรับความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสเปนกับฝรั่งเศส โดยความสัมพันธ์กับสเปนนั้น ทั้งสองฝ่ายมีการลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการอย่างถาวร ในส่วนของความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสนั้น ประธานาธิบดี Obiang ออกกฎบังคับให้เรียนภาษาฝรั่งเศสในโรงเรียนเพื่อให้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและสเปนเป็นภาษาราชการ ต่อมา ในปี 2543 ฝรั่งเศสดำเนินโครงการลดความยากจนและปรับปรุงสาธารณูปโภคในท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลืออิเควทอเรียล และส่งที่ปรึกษาชาวฝรั่งเศสไปทำงานในกระทรวงการคลังและการวางแผนเพื่อให้คำปรึกษาด้านโครงการ

ความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศทางตะวันตกเริ่มสั่นคลอน เนื่องมาจากข้อสงสัยจากหลายฝ่ายที่ว่าอิเควทอเรียลกินีไม่ได้ปรับปรุงพัฒนาการเมืองให้ดีขึ้นแม้จะได้รับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี การค้นพบทรัพยากรน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างอิเควทอเรียลกินีกับประเทศตะวันตกอย่างรวดเร็ว สหรัฐอเมริกาเปิดสถานทูตที่กรุงมาลาโบอีกครั้งในเดือนตุลาคม ปี 2546 หลังจากได้ปิดทำการไปเมื่อปี 2539 เนื่องจากสาเหตุด้านสิทธิมนุษยชน

ในขณะเดียวกัน การค้นพบน้ำมันสำรองนอกชายฝั่งทะเลได้กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างอิเควทอเรียลกินีกับหลายประเทศในภูมิภาค มีกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตทางทะเลกับประเทศรอบบ้านหลายประเทศ อิเควทอเรียลกินีเคยโต้แย้งกับไนจีเรียเรื่องการแบ่งเขตน่านน้ำ และยังมีข้อพิพาทเรื่องการครอบครองดินแดนกับกาบอง โดยทั้งสองฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะ Mbanie Cocotier และ Conga และอิเควทอเรียลกินียังไม่ยอมรับข้อเสนอของกาบองในการตกลงการจัดสรรทรัพยากรร่วมกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

1.1 การทูตไทยและอิเควทอเรียลกินีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2534โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา มีเขตอาณาครอบคลุมอิเควทอเรียลกินี ในขณะที่อิเควทอเรียลกินีมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตอิเควทอเรียลกินี ณ กรุงปักกิ่ง มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิเควทอเรียลกินียังห่างเหิน ไม่ปรากฏการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างกัน

1.2 เศรษฐกิจในปี 2551 ไทยและอิเควทอเรียลกินีมีมูลค่าการค้ารวม 4.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2550 โดยไทยเป็นฝ่ายส่งออกและได้ดุลการค้าทั้งสิ้น และไม่ปรากฏข้อมูลการนำเข้าจากอิเควทอเรียลกินีสินค้าส่งออกของไทยไปยังอิเควทอเรียลกินี ได้แก่ ข้าว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักร ผลไม้กระป๋องและแปรรูป

2. ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทยยังไม่มีการทำความตกลงใด ๆ ระหว่างกัน

3.การเยือนที่สำคัญไม่ปรากฏข้อมูลการเยือนระหว่างไทยกับอิเควทอเรียลกินี