ลักษณะและถิ่นที่อยู่อาศัย ของ ปลากัดป่ามหาชัย

มีลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกับปลากัดภาคกลาง (B. splendens) มาก อีกทั้งยังมีที่อยู่อาศัยทับซ้อนกัน แต่มีความแตกต่างกันที่สีและรายละเอียดบางประการ เช่น สีของเกล็ดเป็นสีฟ้าอมเขียวหรือสีเขียวอย่างเดียวแวววาวทั้งตัว ลักษณะเกล็ดไล่เรียงตัวกันเหมือนฝักข้าวโพด บนพื้นลำตัวที่มีสีเข้มตั้งแต่น้ำตาลจนถึงดำสนิท บริเวณแก้มหรือแผ่นปิดเหงือกเป็นขีดสีฟ้า 2 ขีด ครีบอกคู่แรกที่เรียกว่า "ตะเกียบ" เส้นหน้ามีสีฟ้า ครีบหางมีทั้งกลมและปลายแหลมเหมือนใบโพมีสีฟ้า ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 4-5 เซนติเมตร อีกทั้งยังเป็นปลากัดในกลุ่มก่อหวอดเพียงชนิดเดียวที่พบในประเทศไทย ที่เยื่อใต้แผ่นปิดเหงือกเป็นสีดำสนิทโดยไม่มีขีดหรือแถบสีแดงมาแซมเหมือนปลากัดในกลุ่มก่อหวอดชนิดอื่น ๆ [1]

เป็นปลาที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัด โดยพบแค่เพียงเขตจังหวัดสมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, สมุทรปราการ และเขตบางขุนเทียน ของกรุงเทพมหานคร เท่านั้น จากการศึกษาในระดับดีเอ็นเอ พบว่ามีสายการวิวัฒนาการแยกตัวมาจากปลากัดภาคกลางเมื่อราว 3-4 ล้านปีก่อน และจากการลงพื้นที่ศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยพบว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากัดมหาชัย เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีน้ำเค็มเข้ามาปนเล็กน้อย โดยมากเป็นป่าจาก และยังพบว่ามีน้ำจากแหล่งอุตสาหกรรมบางส่วนปนเปื้อนเข้ามาด้วย เมื่อมีขนาดเล็กจะกินแมลงเป็นอาหาร เมื่อโตขึ้นจะเริ่มกินแมลงผิวน้ำ และโตขึ้นอีกจะเป็นอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งยังเศษซากพืชเข้าไปปนด้วย ปลากัดป่ามหาชัย ถือว่าเป็นปลากัดอีกชนิดหนึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักเลี้ยงปลาสวยงาม [2]